บาปกรรมจากการฆ่าคนตาย ไม่มีการทำบุญทดเเทนใดๆทั้งสิ้น

Posted By on September 30, 2012

บาปกรรมจากการฆ่าคนตาย ไม่มีการทำบุญทดเเทนใดๆทั้งสิ้น

ทัศนะจาก อาจารย์โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ)
จาก หนังสือเรื่อง ชีวิตจริงของคนรับจ้างฆ่า (มือปืน)
โดย อรสม สุทธิสาคร
พักร้อนหลายวัน ประกอบกับร่างกายเจ็บป่วย ก็เลยมีโอกาสได้อ่านหนังสือ
ไปอ่านพบบทความที่น่าสนใจ จึงขอนำมาฝากทุกคนค่ะ

“การเข้าสู่ธรรมชาติของมนุษย์นั้น ต้องยืมสายพระเนตของพระพุทธเจ้า มีพระสูตรพูดถึงฐานะและอฐานะ
ความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้ ในหมวดธรรมที่ว่าด้วยความเป็นไปได้นั้น ท่านอธิบายว่า มนุษย์ปุถุชนทุกคนเป็นไปได้ที่จะปลงชีวิตพ่อแม่หรือพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ได้ คือคนธรรมดาทุกคน โอกาสที่จะทำอย่างนั้นมี แต่สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้สำหรับพระโสดาบันผู้บรรลุกระแสธรรมแล้ว ข้อนี้ผมเข้าใจว่าจะนำไปสู่ความเข้าใจและเห็นใจบุคคลที่เรามักจะมองหรือตัดสินเขาเป็นฆาตกรโดยกำเนิดหรือมีสันดานเป็นฆาตกร คนธรรมดาทั่วไปที่เรียกว่ากัลยาณชนหรือคนดีนั้น โอกาสที่ฆ่าพ่อแม่ก็มี ถ้ามีความบีบคั้นหรือลืมสติอย่างรุนแรง แม้พระโพธิสัตว์ในเรื่องชาดก เมื่อแม่ขัดขวางการปฏิบัติธรรมถึงกับทำร้ายร่างการแม่”
“คนร้ายหรือฆาตกรน่าจะไดัรับการดูแลเพื่อปรับกระบวนทัศน์ด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด มีสิ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญมากก็คือการเคารพชีวิต ไม่ได้หมายถึงการเคารพชีวิตของคนดี คนที่ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น”
“ดูตัวอย่างจากพระไตรปิฎกบ้าง เรื่องของการลงทัณฑ์ คราวหนึ่งมีการถกประเด็นในเรื่องของทัณฑะสาม คือการลงทัณฑ์ในสามทวาร กายทัณฑะ วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ ถกกันว่าอันไหนมีผลร้ายแรงกว่ากัน ระหว่างกายกรรม มโนกรรม และวจีกรรม คือเรื่องหลักกรรมในพุทธศาสนานั่นเอง ศาสดาฝ่ายไชนะ ก็บอกว่ากายทัณฑะแรงกว่า อย่างเราคิดจะฆ่าเขา เป็นมโนกรรม แต่เราก็ไม่ได้ฆ่าเขาสักหน่อย เราด่าเขาเป็นวจีกรรม ก็ยังน้อยกว่าตี ดังนั้นการทัณฑะคือการลงทัณฑ์ทางกายซึ่งแรงกว่า ดังนั้นโทษย่อมแรงตาม ก็ดูจะเข้ากับสามัญสำนึกของคนส่วนใหญ่ แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้คิดอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มโนกรรมแรงกว่า การคิดร้ายส่งผลรุนแรงต่อชีวิตมากกว่า ฟังดูอาจไม่ค่อยเข้าเหตุเข้าผลสักเท่าไร เพราะน้ำหนักดูน้อยมาก จนกระทั่งพระพุทธเจ้าท่านต้องยกอุปมา อุปมัยว่า สมมุติมีชายคนหนึ่งเป็นนักโทษฆ่าคน เจ้าหน้าที่บ้านเมืองตามจับไปลงโทษแต่นักโทษคนนั้นไปล้มตายเอง พระพุทธเจ้าทรงถามว่า แล้วเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องตามจับร่างกายของเขาที่ตายแล้วไปขังหรือปล่าว ถ้ายืนยันว่ากายทัณฑะสำคัญกว่าก็ต้องจับไปขังอีก แต่ในความเป็นจริงคือเราไม่ขังคนที่ตายแล้วอีก ท่านก็สรุปว่า ในบรรดากรรมทั้งสามทวารนั้น มโนกรรมแรงกว่าหากปราศการการดำริร้ายแล้ว การทำร้ายจะไม่มี การด่าว่าจะไม่มี การฆ่ากันทำร้ายกันจะไม่มี ทุกอย่างมันเริ่มที่จิตก่อน”

“ถ้าเรามองในแง่นี้ เรามาสู่บทสรุปที่ว่า จิตฝึกให้เข้าสู่ขบวนการอหิงสาได้ ผู้ที่เข้าใจว่าจิตฝึก
ไม่ได้ เนื่องจากยึดถือเรื่องกรรมเก่าผิด ๆ ว่า คนอย่างนี้หรือคนคนนี่ไม่มีทางสั่งสอนได้ เป็นความยึดติดในความรู้สึกส่วนตัวเกินไป การให้อภัยคนนี่เราสามารถทำได้อย่างถึงที่ แต่สำหรับบางคนอาจไม่ยอมให้อภัย ที่จริงสังคมไทยเรามีประสบการณ์ในเรื่องการกล่อมเกลาชีวิตของนักโทษ การให้บทเรียน ข้อคิด เช่น นิมนต์พระไปเทศนาก่อนการประหาร เป็นต้น  แต่ส่วนใหญ่การเทศนานั้นมักเป็นเรื่องปลอบใจมากว่า”
“ที่จริงการฆ่าคน ในขณะที่ฆ่า จิตหวั่นไหวทั้งนั้น สำหรับชาวพุทธแล้ว การฆ่าไม่ว่ารูปแบบใด ๆ ไม่พึงปรารถนาทั้งสิ้น นอกเหนือจากไม่ฆ่าแล้ว เรายังต้องเมตตาต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ ต่อสัตว์ด้วย นอกจากไม่ขโมยแล้ว เรายังต้องบริจาคทาน นอกจากไม่ผิดลูกเมียเขาอื่นแล้ว สำหรับคนที่เคร่งครัดยังต้องรักษาพรหมจรรย์ นอกจากไม่พูดเท็จต้องกล่าวคำสัตย์จริงด้วย นอกจากไม่เสพของมึนเมาพร่าสติตนเองแล้ว เรายังต้องเจริญสติแล้ว มองในแง่ทฤษฎี เรามีหลัก ทีนี้ในแง่ปฏิบัติ ภาวะจำยอม ภาวะจำเป็นมันมี ดังนั้นจะหาคนดีที่ปฏิบัติศีลทุกข้อ หายาก พระวินัยไม่ใช่กรอบหรือคอก แต่พระวินัยหรือระเบียบเหล่านั้นเป็นเหมือนรั้วสะพาน ถ้าคนแข็งแรงจริง ๆ ไม่ต้องพึ่งสะพานก็ได้ เขาเดินข้ามแผ่นไม้แผ่นเดียวก็ได้ แต่คนทั่วไปอ่อนแอ ผมเชื่ออย่างนั้นนะ ดังนั้นเราจึงต้องพึ่งราวสะพาน เพื่อเกาะเพื่อไต่ต่อไป แต่ถ้าใครเข้าใจผิดต่อราวสะพาน ยึดราวสะพานแล้วไม่เดินก็เป็นปัญหาอันใหม่ คือพวกยึดมั่นถือมั่นพระวินัย ก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาปัญญาได้”

“การฆ่าไม่ว่ารูปแบบใด ๆ ถือเป้นบาปทั้งสิ้น ส่วนการปฏิบัติผมได้บอกแล้วว่ามนุษย์มีข้อปฏิบัติอยู่ไม่น้อย ชาวบ้านเขาฆ่าปลาก็จริงแต่ฆ่าเพื่อกิน เพื่อให้อยู่รอด ไม่ได้มีจิตจะฆ่าเพื่อเบียดเบียนสัตว์ ดังนั้น สิ่งที่เขาตอบแทนสิ่งที่ล่วงลับไปเพื่อให้มีชีวิตอยู่ คือการนับถือหรือบูชา เช่น ชาวอินเดียนแดงเชาฆ่าฝูงไบซัน เพราะฝูงไบซันคือผ้าห่มของเขา เขาก็บวงสรวงวิญญานให้  ถือว่าวิญญาณของสัตว์สูงกว่าวิญญานของมนุษย์ วิญญานมนุษย์อยู่ได้เพราะวิญญานสัตว์ แต่การที่คนหนึ่งทำบาป จ้างวานฆ่า ฆ่า หรือเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น แล้วไปทำบุญชดเชย เราต้องแยกส่วน คือบาปต้องมีผลเป็นบาป ทำบาปก็ย่อมได้รับผลบาป ทำบุญได้รับผลบุญ เอามาชดเชยกันไม่ได้ แต่ว่าการทำบุญเป็นสิ่งที่ควรทำ แทนที่จะทำบาปถ่ายเดียว พระพุทธเจ้าตรัสว่า บาปนั้นไม่ควรทำบ่อย ๆ คือ ถ้าทำแล้วรู้ตัวว่ามันส่งผลไม่ดี มันเกิดผลสะเทือนจริง ๆ แล้วไม่ต้องถามใครหรอกครับ จิตเราทำงานอยู่ พอเราไปทำอะไรจิตมันก็รู้อยู่ เรารู้ก่อนเพื่อน”
“การที่มือปืนทำบาปแล้วไปทำบุญ เขาจะได้ผลหรือไม่ การที่เขาทำบาป เขาได้รับบาปทั้งในขณะนั้นและในขณะอื่นถัดมา เช่น ญาติพี่น้องของคนที่เราทำกรรมเยาก็โกรธแค้นให้ หรือประชาชนหมิ่นน้ำใจหรือหลู่เกียรติ ไม่คบหา ทุรนทุรายในใจนั้นเป็นวิบากโดยตรงเลย จิตกระสับกระส่าย ไม่ตั้งมั่น หวั่นไหวง่าย เช่นเราทำบาปหรือทำผิดหรือแม้แต่คิดว่าผิด เราหวั่นไหว ขึ้นชื่อว่าปุถุชนมีเครื่งวัดอันหนึ่งคือสงสัยในการกระทำของตน ต่างว่าคนนั้นหลังจากทำบาป รู้สึกได้แล้วต่อทุกข์โทษของมัน แต่ที่จริงก็รู้สึกยังไม่ครบถ้วนหรอกครับ เพราะยังทำได้อีก เช่น บางคนฆ่าคนแล้วสำนึก แต่รุ่งขึ้นก็พร้อมจะฆ่าอีก เพราะเอาชนะจิตสำนึกไม่ได้ แสดงว่าจิตของเขายังสมาทานมิจฉาทิฐิ”
“เราจะอ้างว่าเราทำดีชดเชยความชั่วไม่ได้หรอกครับ เพราะต่างกรรมต่างวาระ หมายความว่าชั่วก็ต้องรับผลชั่ว แต่ถ้ารีบทำความดีเผื่อไว้บ้าง ก็พอจะได้รับผลดี ผลชั่วก็จะกินเวลาสั้นหน่อย แต่ชดเชยกันไม่ได้ แต่สามารถแทนที่ได้ แทนที่หมายความว่า ถ้าทำดีเรื่อย ๆ โอกาสทำชั่วก็จะน้อยลง แต่ถ้าทำชั่วมาก ๆ  โอกาสทำดีก็น้อยลง”
“พระพุทธเจ้าให้คำนิยามของอกุศลกรรมและกุศลกรรมไว้ว่า กรรมใดทำแล้วเดือดร้อยภายหลัง กรรมนั้นไม่ดี เดือดร้อนนี้หมายถึงเดือดร้อนตนเอง เดือดร้อนคนอื่นในขณะที่ทำ ภายหลังก็ต้องเดือดร้อนอีก ในทางกลับกัน กรรมใดทำแล้วตัวเองไม่เดือดร้อน คนอื่นไม่เดือดร้อน ต่อมาภายหลังก็ไม่เดือดร้อน กรรมนั้นพึงทำ คือกุศลกรรม แต่ทั้งกุศลกรรม อกุศลกรรม เป็นธรรมชาติธรรมดา คนทำบาปเขาก็สับสน เขาคิดผิดไม่ใช่เพราะเขาชั่วแต่กำเนิดหรอก
“ปัญหาด้านหนึ่งต้องแก้โดยระบบ ต้องยืนพื้นอยู่บนระบบคิด เคารพต่อมนุษย์ มนุษยธรรม ความเคารพมนุษย์เกิดไม่ได้ด้วยทฤษฎีหรอกครับ ดูวันพระพุทธเจ้าออกบวชนะครับ การที่ท่านออกบวชนั้นคือการที่ท่านเบื่อและค้นพบความเหลวแหลกของอำนาจราชศักดิ์ต่าง ๆ ตัดสินใจไปเดินดิน ออกมาเป็นนักพรตเร่ร่อน แสดงว่าท่านยอมรับคนธรรมดาว่าทัดเทียมกับท่านแล้ว การออกมหาภิเนษกรมณ์นั้นคือการกลับเข้าสู่ฐานของความเป็นมนุษย์จริง ๆ เลย อำนาจราชศักดิ์เป็นเรื่องสมมุติ เป็นเรื่องอุปโลกน์กันขึ้น”
“ถ้าระบบมีความเป็นธรรมหรือเอื้ออาทร คงไม่มีใครอยากเป็นฆาตกร เป็นมือปืน”
“ทีนี้ถ้าพูดถึงผลสืบเนื่องมาจากเหตุ เช่นมือปืนที่ฆ่าคนแล้วต้องรับโทษ เราจะมีบทปลอบใจให้กำลังใจให้เขากลับตัวได้อย่างไร ผมอยากบอกว่าออกมาจากคุกแล้วก็อย่าคิดรวยเลย  ผมนึกถึงคำของมหาตมะคานธีที่ว่า ยากจนโดยสมัครใจ ถ้ายากจนโดยไม่สมัครใจนี่ทุกข์ทรมานนะ ผมอยากจะพูดว่า ชีวิตไม่ได้สำเร็จเพราะเงินทอง จริง ๆ แล้วชีวิตเราสำเร็จเพราะข้าวน้ำ เราไม่ได้ต้องการข้าวน้ำ อาหารมากเลย เพียงเราเห็นความจริงอันนี้ตรง ๆ เรานุ่งกางเกงวันละตัว ใส่เสื้อวันละตัว เรากินข้าววันละสองสามมื้อ แล้วเรากินทีละคำ ไม่ได้กินทีละ 5 คำ 10 คำ ชีวิตดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องภายใต้กระแสกระบวนการธรรมชาติ การหายใจเข้า หายใจออก และเรามีโชคชะตาร่วมกันด้วย แล้วช่วงชีวิตที่เนิบช้า สอดคล้องเป็นจังหวะจะโคนนี่เอง คือความหมายของมัน การที่เราวิ่งเริดตลอดเวลานั้นไม่ได้มีความหมายอะไรครับ การที่เราหวังจะมีเงินทองมากนั้นเป็นการวิ่งเริ่ดเตลิดเปิดเปิงไปตามความทะเยอทะยาน ขึ้นชื่อว่าความทะเยอทะยานแล้วจะสร้างขั้วต่างและแรงเหวี่ยง ความขัดแย้งในใจเรา แรงทะยานในภพชาติที่ทำให้เราเป็นทุกข์ พุทธศาสนามองว่ามีแรงชนิดหนึ่งในตัวมนุษย์ ทะเยอทะยานที่จะเป็นโน่นเป็นนี่ ที่จะเสวยนั่นเสวยนี่ นี่คือแรงทะยานในภพชาติซึ่งทำให้เกิดแล้วเกิดอีก ถ้ามองไปสู่หลายวงจรชีวิตก็เรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้ามองในแง่ของการเกิดชั่วขณะ เหมือนที่ท่านพุทธทาสพูด เดี๋ยวเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เดี๋ยวเกิดเป็นเปรตบ้าง เดี๋ยวเกิดเป็นอสุรกายบ้าง ในชั่วขณะจิต จิตเราจะเข้าสู่อันใดอันหนึ่งเสมอไป มันเหนื่อยครับ ”

“ผมคิดว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ประเสริฐสุดแล้ว คือความสันโดษเป็นสุข แต่เราฟังไม่เข้าหูเอง เรากลับคิดกันว่าเงินคือความสุข เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ผมจำได้ว่าผู้ใหญ่สมัยก่อนมักให้พรว่า อยู่เย็นเป็นสุขนะลูกนะ เดี๋ยวนี้เขาให้พรกันว่าขอให้รวย ๆ นะ เราสูญเสียหลักในการดำเนินชีวิตที่แสนประเสริฐ ชีวิตไม่ได้ประเสริฐเพราะร่ำรวย ชีวิตที่ประเสริฐต้องมีความอิ่มในตัว ไม่อาจไปประกวดประขันกับใครได้”

ที่มา http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/000787.htm

บทสวดและคำขออโหสิกรรม

Posted By on September 27, 2012

บทสวดและคำขออโหสิกรรม

อธิษฐานหน้าพระพุทธรูป หรือสวดก่อนนอนก็ได้

(นะโม 3 จบ) ” สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต
อุกาสะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต
อุกาสะ ขะมามิ ภันเต ”

 

หากข้าพเจ้า จงใจหรือประมาทพลาดพลั้งล่วงเกิน บิดา-มารดา ครูบาอาจารย์พระพุทธ พระธรรม
พระอรหันต์ทุกพระองค์ พระอริยสงฆ์เจ้า ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

รวมถึงผู้มีพระคุณ และท่านเจ้ากรรมนายเวร จะด้วย กายวาจา ใจ ก็ดี ขอได้โปรดอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าด้วย
หากข้าพเจ้ามีเจ้าของในตัวติดตามมา ขออนุญาต มีคู่ มีครอบครัวได้เหมือนคนปกติทั่วไป
ขอถอนคำอธิษฐานคำสาบานที่จะติดตามคู่ในอดีต ขอให้ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระต่อกัน

ข้าพเจ้าจะประพฤติตนในทางที่ถูกที่ชอบที่ควร ขอบุญบารมีในอดีตกาลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
จงส่งผลให้ข้าพเจ้าและครอบครัวตลอดจนบริวารที่เกี่ยวข้องจงเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ลาภ
ยศ สุข สรรเสริญ สติปัญญา ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ อุปสรรคใดๆ โรคภัยใดๆ ขอให้มลายสิ้นไป
ขอให้ข้าพเจ้ามีความสว่างทั้งทางโลก ทางธรรม ตั้งแต่บัดนี้ตราบเข้าสู่พระนิพพานเทอญ

หากมีผู้ใดเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับข้าพเจ้า ไม่ว่าจะชาติใดภพใดก็ตาม ข้าพเจ้ายินดีอโหสิกรรมให้
ขอถอนความพยาบาท ความอาฆาตและคำสาปแช่งในทุกชาติ ทุกภพ
ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากคำสาปแช่งของปวงชนของเจ้ากรรมนายเวร
ขอให้พ้นนรกภูมิ พบแสงสว่างทั้งทางโลก ทางธรรม เทอญ …

“คนเราเกิดมาหลายภพชาติ ต่าง มีเจ้ากรรมนายเวรต่างกัน การสวดขอขมาเพื่อลดและปลดหนี้กรรมให้น้อยลง ”

ครูบ้านนอก.คอม

แผ่เมตตตา

สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย
สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย
จงมีแต่ความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเทอญ

ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลนี้ ให้แก่คุณบิดาและมารดา คุณครูบาอาจารย์ ปู่ย่าตายาย ญาติสนิทมิตรสหาย และเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย รวมทั้งท่านผู้มีพระคุณ ที่ได้ให้อาหารและปัจจัยสี่แก่ข้าพเจ้า ขอท่านผู้มีคุณทั้งหลายเหล่านั้น จงเป็นผู้มีความเจริญในธรรมของพระพุทธเจ้า คิดและหวังสิ่งใด ขอสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น จงสมความปรารถนาทุกประการเทอญ

ข้าพเจ้า ขออุทิศส่วนกุศลนี้ ให้แก่เทพเจ้าทั้งหลาย ที่ปกปักษ์รักษาข้าพเจ้า และเทพเจ้าทั้งหลาย ทั่วสากลพิภพ และพญายมราช ท่านท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔, พระธรณี, พระคงคา, พระเพลิง, พระพาย, เจ้าที่-เจ้าทาง, เจ้าทุ่ง-เจ้าท่า-เจ้าถ้ำ, เจ้าป่า-เจ้าเขา, เปรต, อสุรกาย, ผีสางนางไม้, สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่เวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏสงสาร และ ณ.สถานที่แห่งนี้ ขอจงมารับกุศลผลบุญอันนี้ อันข้าพเจ้าทั้งหลายได้กระทำแล้วด้วยดี ในครั้งนี้ด้วยเทอญ

ขอผลบุญนี้ จงเป็นพลวปัจจัย ส่งผลให้ ไม่ว่าข้าจะอยู่ในที่ใด เกิดในชาติไหน ๆ จงอย่าประสบ อย่าได้พบกับคำว่าไม่มี ไม่ดี ไม่ได้ ไม่สบาย ตลอดกาลเทอญ.

ที่มา http://www.tairomdham.net/index.php?topic=692.0

 

ประเพณีตักบาตรเทโวมีความสำคัญอย่าไง

Posted By on September 24, 2012

ประเพณีตักบาตรเทโวมีความสำคัญอย่าไง

วันตักบาตรเทโวหมายถึง วันทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษา ตามความเชื่อของพุทธศาสนิชน ว่าเป็นวันที่เสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดาเทโว ย่อมาจากคำว่า เทโวโรหนะ ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจาก เทวโลก หมายถึง การเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า ตามตำนาน กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่าง ๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่ เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี
ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นบิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้า แล้วทรงปรารถนาจะสนองพระคุณมารดา ซึ่งหลังประสูติพระองค์ ได้ ๗ วัน ก็สิ้นพระขนม์ และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้นในพรรษาที่ ๗ หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงเสด็จลงจาก สวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะประชาชนพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น การตักบาตรเทโวนี้
บางวัดทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ทั้งนี้ แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน พิธีที่ทำนั้นทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้ง อยู่บนล้อเลื่อนหรือคานหาม มีบาตรขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป มีคน ลากล้อเลื่อนไปช้า ๆ นำหน้าพระสงฆ์ สามเณร ซึ่งถือบาตรเดินเรียงไปตามลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำข้าว อาหารหวานคาว มาเรียงรายกันอยู่เป็นแถวตามแนวทางที่รถบุษบกเคลื่อนผ่าน คอยตักบาตร อาหารที่นิยมตักในวันนั้น นอกจากข้าวและอาหารคาวหวาน ธรรมดาแล้วก็จะมีข้าวต้มลูกโยนด้วย ซึ่งบางท่านสันนิษฐานว่าในครั้งนั้นผู้คนรอใส่บาตรกันแออัดมาก เข้าไม่ถึงพระ จึงใช้ข้าวก่อ หรือปั้นโยนลงบาตร ประเพณีการตักบาตรเทโวนี้
เนื่องมาจากการเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อมีเหตุการณ์อะไรปรากฏในตำนาน ก็จะปรารภเหตุนั้นๆ เพื่อบำเพ็ญบุญกุศลเช่นการถวายทาน รักษาศีล เป็นต้น ตักบาตรเทโวจึงเป็นการทำบุญอย่างมโหฬารของพุทธศาสนิกชน นับแต่นั้นมช่วงเวลา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ความสำคัญคำว่า เทโว ย่อมาจาก เทโวโรหณะ หมายถึง การหยั่งลงมาจากเทวโลก ซึ่งหมายถึงพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากเทวโลกตามตำนานเล่าว่าเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้ประกาศพระศาสนาตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศอินเดียมาถึงตอนล่าง และได้เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นปิตุภูมิ ได้ทรงแสดงเทศนาโปรดพระบิดา พระมารดา พระนางพิมพาและพระราหุล ตลอดจนพระประยูรญาติทั้งหลาย แล้วได้เสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่อทรงแสดงธรรมเทศนาพระอภิธรรมแด่พระพุทธมารดาและปวงเทวดาทั้งหลายตลอดพรรษา
จึงเสด็จมายังมนุษย์โลกในวันที่เสด็จกลับมานั้นมีประชาชนไปถวายการต้อนรับพระองค์เป็นจำนวนมาก ประชาชนเหล่านั้นต่างปิติยินดีด้วยการนำจตุปัจจัยใส่บาตรประเพณีตักบาตรเทโวของสุโขทัย มีการจัดงานประเพณีตักบาตรเทโวหลายแห่งเท่าที่ปรากฏและมีชื่อเสียงคือ งานตักบาตรเทโวของวัดราชธานี อำเภอเมืองสุโขทัย และวัดน้ำขุม อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย วัดราชธานีมีการจัดงานตักบาตรเทโวมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี มีการทำบุญตักบาตร ใส่บาตรข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มลูกโยน เพราะความเชื่อที่ว่าพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากเทวโลกมีผู้มาต้อนรับมากมายทำให้ไม่สามารถเข้าใกล้พระพุทธองค์ได้ ต้องโยนอาหารลงในบาตร มีกีฬาทางน้ำคือการแข่งเรือในแม่น้ำยม โดยเชิญเรือจากหลายแหล่งมาร่วมแข่งขันบางปีได้เชิญเรือจากต่างจังหวัดมาร่วมแข่งด้วยสำหรับการงานประเพณีตักบาตรเทโวของวัดน้ำขุม
ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยมีครูย่อม จันทร์สุข เป็นผู้นำและร่วมกับศรัทธาชาวบ้านจัดทำ บุษบก ศีรษะพระอินทร์ พระพรหม พระอิศวร ยมบาล และหัวสัตว์นรกต่าง ๆ เช่น เปรต สุนัข ลิง ฯลฯ ตลอดจนเครื่อง แต่งกายนางฟ้า เทวดา เป็นต้นการจัดทำอุปกรณ์จัดงานตักบาตรเทโวในวัดน้ำขุมนั้น เป็นงานศิลปะที่เกิดจาภูมิปัญญาชาวบ้านในส่วนท้องถิ่นล้วน ๆ เพราะชาวบ้านได้ช่วยกันประดิษฐ์ไปตามจินตนาการ แม้ในปัจจุบันรูปแบบก็ยังจัดในรูปแบบเดิม แต่มีอุปกรณ์เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
พิธีกรรมก่อนจะถึงวันงานคณะกรรมการจะได้เชิญชาวบ้านส่งบุตรหลานมาเป็นเทวดา นางฟ้า และผู้เข้าร่วมขบวนแห่ ปัจจุบันขบวนแห่งานตักบาตรเทโวจะเริ่มที่หน้าวัดหนองแหนซึ่งอยู่ห่างจากที่จัดงานประมาณ ๒ กิโลเมตรเศษ ในขบวนจะประกอบด้วย กลองยาว บุษบกสำหรับประดิษฐาน พระพุทธรูป พระอินทร์ พระพรหม เทพบุตร นางฟ้า ฤาษี ขอทานและสัตว์นรกจำนวนมาก เมื่อเริ่มขบวนชาวบ้านจะพากันมาคอยร่วมทำบุญตักบาตร ซึ่งเป็นข้าวสารอาหารแห้ง การเคลื่อนขบวนจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ให้พระภิกษุรับบาตร
สาระงานตักบาตรเทโวเป็นงานที่ช่วยสร้างความสมัครสมานสามัคคีให้แก่ชาวบ้านอย่างมากเป็นเครื่องควบคุมสังคมให้ละ ลด เลิกอบายมุข หันหน้าเข้าวัดเพื่อทำบุญ จึงมีส่วนช่วยให้สังคมเกิดสันติสุขเป็นอย่างดี

ประเพณีไทยเเห่นางเเมว

Posted By on September 24, 2012

ประเพณีไทยเเห่นางเเมว

ประเพณีแห่นางแมว ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีขอฝนของชาวอีสานหลายๆคนคงจะเคยได้ยินมานะคะว่าชาวอีสานมีวิธีการขอฝนอยู่อย่างหนึ่งคือ ประเพณีการแห่นางแมว ซึ่งการแห่นางแมวเป็นพิธีอ้อนวอนขอฝน ซึ่งจำจัดทำขึ้นในปีใดที่ภาคอีสานในแต่ละท้องถิ่นแห่งแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล จนในปัจจุบันกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตราบจนทุกวันนี้ค่ะ พิธีแห่นางแมวของชาวอีสานเพราะเชื่อว่าเหตุที่ฝนไม่ตกมีเหตุผลหลายประการ เช่น เกิดจากดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง,ประชาชนชาวเมืองหย่อนในศีลธรรม ,เจ้าเมืองหรือเจ้าแผ่นดินไม่ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม, เป็นต้น เหตุนี้ชาวเมือง
ชาวอีสานจึงต้องทำพิธีอ้อนวอนขอฝน และการที่ต้องใช้แมวเป็นตัวประกอบสำคัญในการขอฝน เพราะเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่เกลียดฝน ถ้าฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันที ชาวอีสานจึงถือเอาเคล็ดที่แมวร้องในเวลาฝนตกว่า จะเป็นเหตุให้ฝนตกจริงๆ ชาวบ้านจึงร่วมมือกันสาดน้ำและทำให้แมวร้องมากที่สุดจึงจะเป็นผลดี และชาวอีสานเชื่อว่าหลังจากทำพิธีแห่นางแมวแล้วฝนจะตกลงมาตามคำอ้อนวอน และตามคำเซิ้ง ของนางแมว
1. กะทอหรือเข่งที่มีฝาปิดข้างบน 1 อัน
2. แมวสีดำตัวเมีย 1 ตัว
3. เทียน 5 คู่
4. ดอกไม้ 5 คู่
5. ไม่สำหรับสอดกะทอให้คนหาม 1 อัน
ชาวบ้านรวมทั้งคนแก่คนหนุ่มและเด็กส่วนมากจะเป็นผู้ชาย ปรึกษาหารือกัน คนที่เป็นผู้นำกล่าวเซิ้ง เพื่อให้ผู้ไปแห่ทั้งหมดเป็นผู้ว่าตาม ส่วนใหญ่จะเป็นคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน2. หากะทอใบหนึ่งหรืออาจใช้เข่งก็ได้3. จับเอาแมวตัวเมียสีดำ 1 ตัวใส่ในกะทอ ใช้เชือกผูกปิดปากะทอไม่ให้แมวออกได้ และใช้ไม้สอดกะทอให้คนหา 2 คน ตั้งคายด้วยขันธ์ ห้า ป่าวสักเคเทวดา เพื่อให้เทวดาบันดาลให้ฝนตก4. ได้เวลาพลบค่ำผู้คนกำลังอยู่บ้าน ก็เริ่มขบวนแห่โดยหากะทอแมวออกข้างหน้า แล้วตามด้วยคนว่าคำเซิ้ง และผู้แห่ว่าตามเป็นท่อนๆไป ในขบวนก็จะมีการตีเกราะเคาะไม้เพื่อให้เกิดจังหวะตามไปด้วย และแห่ไปทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านนั้นๆ เมื่อแห่ไปถึงบ้านใครเจ้าของบ้านก็ต้องเอาน้ำสาดหรือรดที่ตัวแมวให้เปียกและทำให้แมวร้อง และสาดใส่ขบวนเซิ้งด้วย ประเพณีบางบ้านก็สาดใส่ขบวนเฉยๆโดยไม่ให้ถูกแมว เพราะปรากฏว่าเซิ้งหนักๆเข้า แมวตายวันละตัว
คำเซิ้งแต่ละท้องถิ่นไม่ค่อยเหมือนกันแต่สิ่งที่รวมอยู่ในคำเซิ้งคือมีการพรรณนาถึงความแห้งแล้งและขอให้ฝนตกเหมือนกัน และเท่าที่ประมวลมาส่วนใหญ่จะเป็นดังนี้ประเพณีแห่นางแมวเป็นพิธีขอฝนของพวกชาวบ้าน โดยเฉพาะภาคกลาง ปีใดที่ฝนมาล่าหรือแล้งผิดปรกติ อันจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน พืชในไร่นาให้ผลไม่เต็มที่ อาจถึงกับทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงได้ ชาวบ้านก็จะชุมนุมปรึกษาหารือกันเพื่อทำพิธีแห่นางแมวตามที่ทำสืบเป็นประเพณี เพราะเชื่อว่าภายหลังเมื่อแห่นางแมวแล้ว ไม่ช้าฝนก็เทลงมา
ชาวบ้านจะจัดหาแมวตัวเมียตัวหนึ่ง นำใส่ชะลอม หรือเข่ง  ตะกร้า สุดแต่จะหาได้ ที่สำคัญต้องมีฝาปิดแน่นหนากันแมวแหกออกมาได้ การแห่นางแมวนั้นจะแห่กันในตอนเช้าหรือตอนบ่ายก็ได้แล้วแต่ความสะดวก เอาไม้คานสอดเข้าไปในตะกร้า หามกันไป มีคนแห่แวดล้อมนางแมว  คนหนึ่งถือพานนำหน้า ร้องเชื้อเชิญให้ใคร ๆ มาร่วมพิธีขอฝน พวกที่อยู่ในขบวนใครมีกลอง กรับ ฆ้อง ฉิ่ง ก็ถือติดมือมาบรรเลงด้วย
  เมื่อเคลื่อนขบวนแห่  ต่างก็ร้องบทแห่นางแมว ซึ่งมีข้อความผิดเพี้ยนกันไปแล้วแต่ท้องถิ่น บางบทมีถ้อยคำกระเดียดไปทางหยาบโลน เมื่อแห่ถึงบ้านใคร เจ้าของบ้านจะเอากระบวยตักน้ำสาดลงไปในชะลอมหรือตะกร้าที่ขังแมวอยู่ จากนั้นเจ้าของบ้านก็ให้รางวัลแก่พวกแห่ เป็นเหล้า ข้าวปลา ไข่ต้ม หรือของกินอย่างอื่น ส่วนมากมักให้เงินเล็กน้อยแก่คนถือพานนำหน้ากระบวนแห่ เสร็จแล้วก็เคลื่อนต่อไปยังบ้านอื่น ๆ จนสุดเขตหมู่บ้านแล้วก็กลับมาชุมนุมเลี้ยงดูกันเป็นที่ครึกครื้น พร้อมทั้งปล่อยแมวให้เป็นอิสระ ถ้าฝนยังไม่ตก ก็ต้องแห่ช้ำในวันรุ่งขึ้นและวันต่อ ๆ ไปจนกว่าฝนจะตก
    พระยาอนุมานราชธน ปราชญ์คนสำคัญของไทย ให้ข้อสังเกตว่า แมวเป็นสัตว์ไม่ชอบน้ำ โบราณจึงถือว่าเป็นตัวแล้งเมื่อแมวถูกสาดน้ำเปียกปอน ก็จะหมดสภาพตัวแล้งไป ชาวบ้านคงถือเคล็ดตรงนี้จึงมีพิธีแห่นางแมวสืบต่อกันมา
เรื่องสาดน้ำแมวเมื่อฝนแล้งเพื่อให้ฝนตก ไม่ใช่มีในประเทศไทยเท่านั้น  ในเกาะสุมาตราบางท้องที่ก็มี ถ้าปีใดฝนแล้ง  พวกผู้หญิงชาวบ้านต้องนุ่งน้อยห่มน้อย พากันลงไปลุยน้ำในแม่น้ำแล้วสาดน้ำรดกัน นอกจากนี้ยังจับแมวดำตัวหนึ่งโยนลงไปในน้ำแล้วปล่อยให้มันตะเกียกตะกายปีนตลิ่งหนี พอแมวขึ้นตลิ่งได้พวกผู้หญิงก็ไล่ตามและสาดน้ำรดมันพอเป็นพิธี บอกว่าทำอย่างนี้ฝนจะตก ทางเกาะชวามีประเพณีจับเอาแมวตัวผู้กับตัวเมียอย่างละตัวมาอาบน้ำ เชื่อว่าไม่ช้าฝนจะตก
    “ซองคำถาม” คิดเล่น ๆ ว่า เหตุที่เลือกเอาแมวมาแห่นั้นอาจเห็นว่าแห่นางแมวดีกว่าแห่นางหมา เพราะหมาไทยนั้นใครจะตะครุบจับมาใส่ตะกร้าได้ง่าย ๆ แถมกว่าจะเดินแห่ทั่วหมู่บ้าน หมาซึ่งตัวหนักอยู่แล้ว เวลาถูกน้ำสาดก็จะดิ้นทำให้หนักแรงมากขึ้น ขบวนแห่คงไปไม่ได้ไกลเป็นแน่

ประเพณีการเทศน์มหาชาติ

Posted By on September 24, 2012

ประเพณีการเทศน์มหาชาติ

ประเพณีการเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีทางศาสนาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน นับเนื่องขึ้นไปถึงก่อนสมัยสุโขทัย  เหตุที่ประเพณีเทศน์มหาชาติแพร่หลายและดำรงอยู่ในสังคมไทยก็เพราะความเชื่อที่ว่าการฟังเทศน์มหาชาติให้ครบ ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวจะทำให้ได้อานิสงส์ไปเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย  ซึ่งชาวพุทธส่วนใหญ่จะมีความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาของพระสมณโคดมจะถึงกาลเสื่อมสูญเมื่อมีอายุครบ ๕,๐๐๐ ปี  หลังจากนั้นพระศรีอาริยเมตไตรยจะมาอุบัติในโลก

ประเพณีเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีสำคัญทั้งประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ ในด้านประเพณีหลวงนั้นจะถือว่าเป็นพระราชพิธีใหญ่ของราชสำนัก  พระมหากษัตริย์จะทรงอุปถัมภ์และดูแลการเทศน์มหาชาติ  โดยจัดให้มีการเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง  มีวรรณคดีที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการเทศน์มหาชาติโดยเฉพาะ  เช่นเดียวกับชาวบ้านก็จะมีมหาชาติฉบับท้องถิ่นต่าง ๆเป็นของตนเอง  ทำให้การเทศน์มหาชาติของแต่ละท้องถิ่นได้ผสานความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นเข้ามาด้วย  อย่างไรก็ตามลักษณะร่วมกันของประเพณีเทศน์มหาชาติของท้องถิ่นต่าง ๆ ก็คือการเชื่อในเรื่องอานิสงส์ของการเทศน์มหาชาติ

การเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีของชุมชน  ซึ่งต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจและศรัทธาของชุมชนเป็นหลัก  เมื่อทางวัดดำริจะจัดงานเทศน์มหาชาติจึงจำเป็นต้องปรึกษาหารือกับคณะศรัทธาของวัด  เมื่อเห็นพ้องต้องกันจึงจัดหาผู้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ  บางแห่งก็ร่วมมือกันหลายคนเป็นเจ้าภาพกัณฑ์ใดกัณฑ์หนึ่ง  ดังนั้นการเทศน์มหาชาติในชุมชนต่างๆ  จึงแสดงให้เห็นถึงความสามัคคี  ความยินดีปรีดาที่จะได้รื่นเริงร่วมกัน  การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพราะเป็นการรวมญาติพี่น้อง และสร้างความปรองดองระหว่างกัน  ตลอดจนเป็นการสร้างกุศลร่วมกันเพื่อเป็นเนื้อนาบุญสืบต่อมายังลูกหลาน

ปัจจุบันการเทศน์มหาชาติได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก  แม้ว่าจะคงมีการจัดงานเทศน์มหาชาติอยู่อย่างต่อเนื่องก็ตาม  ท้องถิ่นบางแห่งได้จัดงานเทศน์มหาชาติจนกลายเป็นงานสำคัญของจังหวัด เช่น จังหวัดร้อยเอ็ดกับจังหวัดเลย ที่มีการจัดงานเทศน์มหาชาติอย่างใหญ่โตจนกลายเป็นงานท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับชาติ  ผู้ที่ทำหน้าที่จัดงานจึงเป็นหน่วยงานราชการต่าง ๆที่ร่วมมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้ขาดลักษณะของการทำบุญของ “คณะศรัทธา” ในท้องถิ่น และทำให้การเทศน์มหาชาติ ถูกประยุกต์เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหลือเค้าของประเพณีดั้งเดิม นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ ก็เป็นเจ้าภาพจัดงานเทศน์มหาชาติ ทำให้สถานที่จัดงานเปลี่ยนจากวัดมาเป็นสถานที่ของหน่วยงานเพื่อความเป็นสิริมงคลของหน่วยงานนั้นๆ อย่างไรก็ตาม แม้การเทศน์มหาชาติในปัจจุบันจะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ก็แสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนิกชนยังยึดมั่นอยู่กับหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา และดำรงไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามของไทยให้อยู่คู่สังคมไทยตลอดไป

เรียบเรียงโดย : อาจารย์ฐนธัช  กองทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ประเพณีทอดผ้าป่า

Posted By on September 24, 2012

ประเพณีทอดผ้าป่า

ประเพณีทำพุ่มผ้าป่าหรือทอดผ้าป่า กระทำควบคู่กับประเพณีลากพระ ประเพณีนี้จะทำในคืนซึ่งในวันรุ่งขึ้นจะมีประเพณี ลากพระ มีทำกันเฉพาะในอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น แท้ที่จริงตั้งแต่เดิมมาประเพณีนี้เป็นพิธีหนึ่งทางพุทธศาสนา ที่กระทำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือพระพุทธองค์อนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์แสวงหาผ้าบังสกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของ
ที่ทิ้งอยู่ตามป่าดงบ้าง ห่อศพท้องไว้ตามป่าช้าบ้าง หรือเศษผ้าที่ทิ้งอยู่ตามถนนหนทางบ้าง นำมาซักตัดเย็บด้วยตนเองให้เป็นจีวรใช้ ต่อมาเมื่อบรรดาพุทธศาสนิกชนสมัยนั้นเห็นความลำบากของพระภิกษุ จึงได้นำผ้าดีๆ ไปแขวนทิ้งไว้ตาม ริมทางหรือตามป่าช้า ข้างทางที่พระจะผ่านไปมา เพื่อพระจะได้นำไปใช้ประโยชน์ประเพณีทำพุ่มผ้าป่าที่กระทำกันในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยเฉพาะในอำเภอเมืองฯ ในการจัดพุ่มผ้าป่าจะจัดไว้ที่หน้าบ้าน ของตน โดยใช้ตนไม้หรือกิ่งไม้ปักไว้ในที่ดังกล่าวตั้งแต่หัวค่ำของคืนวันขึ้น 16 ค่ำ เดือน 11 อาคารบ้านเรือนและร้านค้าจะจัด พุ่มผ้าป่ากันอย่างสวยงาม คือ บางบ้านที่มีกำลังทรัพย์ มีกำลังคนมาก นอกจากจะมีต้นไม้หรือกิ่งไม้ไว้ โดยมีผ้าเหลือง 1 ผืน ห้อยไว้ ยังมีสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุนำมาผูกไว้ที่กิ่งไม้ด้วย เช่น ปิ่นโต ธูป เทียน ยาสีฟัน ไม้ขีด น้ำมัน และยังจัดเป็นซุ้ม โดยจัดเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ พุทธประวัติ ชาดก สวรรค์ นรก และอื่นๆ อย่างวิจิตรงดงาม ส่วนผู้ที่ทุนน้อยก็จะจัดตามกำลังทรัพย์ ของตน
การจัดพุ่มจะเสร็จเรียบร้อยก็ประมาณเที่ยงคืน หลังจากนั้นจะมีประชาชนเที่ยวเดิมชมพุ่มผ้าป่ากันเป็นหมู่ๆ จนกระทั่งสว่างในเวลารุ่งเช้าของวันแรม 1 ค่ำ ประมาณ 5.30 นาฬิกา พระภิกษุจำนวนเท่ากับพุ้มผ้าป่าจาก วัดต่างๆ และจะจาริกไปยัง พุ่มผ้าป่าตามสลากที่ได้รับ ครั้นเวลา 6.00-6.30 นาฬิกา ก็จะทำพิธีชักผ้า โดยเจ้าของพุ่มและประชาชนที่ร่วมทำบุญกับผ้าป่าจะนั่งลง
พนมมือตรงไปยังพุ่มผ้าป่าด้านหน้าตน เมื่อพระภิกษุชักผ้าเสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้นพระภิกษุจะจาริกกลับวัดประเพณีจัดพุ่มผ้าป่าเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความเจริญทางวัฒนธรรมของชาวสุราษฎร์ธานีประเพณีหนึ่ง มีปฏิบัติกัน เฉพาะในเมืองนี้เท่านั้น เป็นประเพณีที่ควรส่งเสริมเผยแพร่ให้คงอยู่สืบไป

ทำไมต้องไว้ศพ 100 วัน

Posted By on September 24, 2012

ทำไมต้องไว้ศพ 100 วัน

พิธีศพ

           ประเพณีเกี่ยวกับศพ มักจะผิดแผกแตกต่างกันไปตามความนิยมของบุคคลในท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่คงลักษณะการประกอบพิธีไว้เป็นแนวเดียวกัน จะนำมากล่าวพอเป็นแนวทางปฏิบัติเฉพาะบางตอน ที่อนุศาสนาจารย์ปฏิบัติช่วยเหลืออยู่เป็นประจำเท่านั้น
การตั้งศพ
 
เมื่อตั้งศพและจัดดอกไม้ธูปเทียนประดับเรียบร้อยแล้ว ให้ตามไฟ (ตะเกียงมีโคมหรี่ไว้ปลายเท้า 1 คู่)
ในพิธีทางราชการ   เมื่ออาบน้ำศพและนำศพขึ้นตั้งเรียบร้อยแล้ว จะนิมนต์พระ 10 รูป หรือ 20 รูป สดับปกรณ์ (บังสุกุล) จบแล้วถวายไทยธรรมพระสงฆ์อนุโมทนา กรวดน้ำ ก็เป็นเสร็จพิธี
แต่ศพชาวบ้านทั่วไป ปัจจุบันนิยมนิมนต์พระสงฆ์มา 10 รูป หรือหลายรูปก็แล้วแต่ศรัทธาของเจ้าภาพ เมื่อพระมาถึงแล้ว ทอดผ้าบังสุกุลบนหีบศพ หรือบนที่ที่เตรียมไว้ นิมนต์พระชักผ้าบังสุกุล (จะเป็นผ้าไตร, จีวร, สบง, ผ้าเช็ดตัว, ผ้าเช็ดหน้า ก็ได้) เมื่อพระชักผ้าบังสุกุลแล้ว ก็เป็นอันเสร็จพิธีในตอนนี้
ลำดับพิธีในการสวดพระอภิธรรม

-  ได้เวลานิมนต์พระประจำที่
-  เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย จุดเทียนธูป ณ ที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม
   เสร็จแล้วจุดเทียนธูปบูชาหน้าศพ แล้วกลับมานั่ง
-  พิธีกร อาราธนาศีล รับศีลจบแล้ว พระสงฆ์ก็เริ่มสวดพระอภิธรรมต่อไป
-  เมื่อถึงเวลาเลิกสวดประจำคืน พระสวดพระอภิธรรมจบสุดท้ายแล้ว พิธีกร
    เชิญเจ้าภาพถวายไทยธรรม แล้วชักผ้าภูษาโยง หรือด้ายสายสิญจน์
-  เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล (ถ้ามี)
-  พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล
-  พระสงฆ์อนุโมทนา
-  เจ้าภาพกรวดน้ำ พระสงฆ์เดินทางกลับ
-  เสร็จพิธี
การทำบุญ 7 วัน
เมื่อเก็บศพไว้ครบ 7 วัน เช่น ตายในวันศุกร์ พอถึงวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ต่อมา ก็นิมนต์พระ 7 รูป (พิธีทางราชการ 10 รูป) มาสวดพระพุทธมนต์เย็น ถวายอาหารบิณฑบาตเช้าในวันรุ่งขึ้น แล้วจะมีสดับปกรณ์ (สวดมาติกาบังสุกุล) แสดงพระธรรมเทศนาต่อก็ได้ หรือทำในตอนเช้าหรือตอนเพล โดยไม่ต้องสวดมนต์เย็นก็ได้

ลำดับพิธีทำบุญ 7 วัน  (ทำบุญตอนเพล)
การทำบุญ 7 วัน ถ้าทำวันเดียว ตายวันศุกร์ ให้ทำวันศุกร์สัปดาห์ต่อไป

               10.00 น. -  พระสงฆ์ประจำอาสนะ
-   เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย แล้วไปจุดเทียนธูปหน้าศพ และกลับมานั่งที่เดิม
-  อาราธนาศีล รับศีล อาราธนาพระปริตร แล้วฟังพระสวดพร้อมกัน (ถ้ามีพิธีเทศน์ติดต่อกันไป)
-  อาราธนาพระปริตรต่อทันที ส่วนศีลนั้นอาราธนาและรับศีลตอนมีเทศน์
               11.00 น. -  ถวายภัตตาหารเพลพระที่สวดพระพุทธมนต์
               12.00 น. - พระฉันเสร็จ นำเครื่องไทยธรรมเทียบแล้ว เชิญเจ้าภาพถวาย
-  เก็บไทยธรรมแล้ว ชักผ้าภูษาโยง
-  เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล (ถ้ามี)
-  พระชักผ้าบังสุกุลแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ
-  เจ้าภาพจุดเทียนธูปที่โต๊ะบูชาก่อน แล้วจุดเทียนประจำกัณฑ์เทศน์ (เทียนส่องดูหนังสือเทศน์)
               13.30 น. -  พระเทศน์ขึ้นธรรมาสน์
-  อาราธนาศีล อาราธนาธรรม
-  เมื่อพระเริ่มเทศน์ด้วยการบอกศักราชก่อน ระหว่างนี้เจ้าภาพจุดเทียนเครื่องห้า (เครื่องทองน้อย)
    ของศพก่อนแล้ว จุดเครื่องห้าของเจ้าภาพ หรือจะจุดติดต่อจากจุดเทียนประจำกัณฑ์เทศน์
    หรือจุดระหว่างอาราธนาธรรมก็ได้
-  พระสงฆ์แสดงธรรมจบ เจ้าภาพไปจุดเทียนธูป ณ ที่เบื้องหน้าพระสงฆ์สวดรับเทศน์
    พระสงฆ์ 4 รูป (ถ้ามี) สวดธรรมคาถาต่อจนจบ
-  เจ้าภาพถวายไทยธรรม เจ้าหน้าที่เก็บไทยธรรมแล้วชักผ้าภูษาโยง
-  พระสงฆ์ทอดผ้าบังสุกุล (ถ้ามี)
-  เจ้าภาพกรวดน้ำ พระสงฆ์อนุโมทนา แล้วเดินทางกลับ
-  เสร็จพิธี
การทำบุญ 50 วัน 100 วัน
พิธีทำบุญ 50 หรือ 100 วัน ก็ทำเช่นเดียวกับพิธีทำบุญ 7 วัน ดังที่กล่าวมาแล้ว
การบรรจุศพ
เมื่อเจ้าภาพได้บำเพ็ญกุศลครบ 3 วัน 7 วัน 50 วัน 100 วันแล้ว ยังไม่ทำฌาปนกิจ จะต้องเก็บไว้เพื่อรอญาติ รอโอกาสอันเหมาะสม ก็นิยมเก็บศพไว้ที่บ้านหรือที่วัด ก็สุดแต่จะสะดวก ถ้าเก็บไว้ที่วัด ก็นิยมการบรรจุศพ พิธีบรรจุศพก็ไม่มีอะไรมาก เมื่อเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลครบ 3, 5, 7, 50, 100 วัน หรือมากกว่านั้นแล้ว พอได้เวลา (ส่วนมากเวลา 15.00 – 17.00) ก็นำศพไปยังสถานที่บรรจุนำหีบศพเข้าที่เก็บ แต่ยังไม่ปิดที่เก็บ เชิญแขกเข้าเคารพ โดยเจ้าภาพจัดหาดินเหนียวก้อนเล็ก ๆ ห่อกระดาษดำ และกระดาษขาวใส่ถาดไว้ เพื่อแจกแขกคนละก้อน จะมีดอกไม้ด้วยก็ได้ เมื่อแขกนำดินเหนียวและดอกไม้ไปวางเคารพศพแล้ว เจ้าภาพก็ทอดผ้าบังสุกุลปากหีบศพ และนิมนต์พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล (หรือทอดผ้าบังสุกุลก่อนเชิญแขกเข้าเคารพศพก็ได้) พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุลแล้วก็เก็บ เป็นอันเสร็จพิธี ผู้จัดการฌาปนสถานก็จัดการปิดที่เก็บหีบศพต่อไป

    การฌาปนกิจศพ
การฌาปนกิจศพหรือการเผาศพ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าภาพกำหนดแล้ว ก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ฌาปนสถาน และออกบัตรเชิญ โดยกำหนดวันเวลาให้ผู้เคารพนับถือทราบทั่วกัน
เมื่อชักศพขึ้นตั้งอย่างที่ทำคราวถึงแก่กรรมแล้ว จะมีพระสวดพระอภิธรรมก่อนฌาปนกิจสัก 3 วัน 7 วันอีกก็ได้ หรือจะทำเพียงวันเดียวก็ได้ แต่ทำกันอยู่ทั่ว ๆ ไปนิยมตั้งศพทำบุญในตอนเช้าวันฌาปนกิจแล้วเพื่อตัดภาระ

    ลำดับพิธีฌาปนกิจศพ

               09.00 น. -  เชิญศพขึ้นตั้งบนศาลาบำเพ็ญกุศล
               10.15 น. -  นิมนต์พระสงฆ์ประจำที่อาสน์สงฆ์
               10.20 น. -  เจ้าภาพจุดเทียนธูปพระรัตนตรัย
               10.25 น. -  อาราธนาพระปริตร
               10.30 น. -  พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์
               11.00 น. -  ถวายภัตตาหารเพล
-  ถวายเครื่องไทยธรรม
-  พระสงฆ์อนุโมทนา
               12.00 น. -  เลี้ยงอาหารกลางวันญาติมิตร และแขกที่มาในงาน
               14.00 น. -  นิมนต์พระเทศน์ขึ้นพักบนอาสน์สงฆ์
               14.05 น. -  เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย เทียนกัณฑ์เทศน์, เทียนธูปหน้าศพ
-  อาราธนาศีล, อาราธนาธรรม (เทศน์ธรรมดาหรือเทศน์แจงก็ได้)
               14.10 น. -  พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว ถวายกัณฑ์เทศน์
               15.00 น. -  นิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป (หรือจำนวนตามแต่นิมนต์) ขึ้นอาสน์สงฆ์พร้อมกัน
-  มาติกาบังสุกลุ
               15.30 น. -  เคลื่อนศพเวียนเมรุ 3 รอบ พระสงฆ์นำศพ 1 รูป
               15.45 น. -  เชิญศพขึ้นสู่เมรุ
               16.00  น. -  แถวกองเกียรติยศเข้าที่พร้อมหน้าเมรุ (ถ้าเป็นศพที่ต้องจัดกองเกียรติยศ)
-  อ่านคำไว้อาลัย (ถ้ามี) (ท้ายคำไว้อาลัยมียืนไว้อาลัยศพที่มีกองเกียรติยศไม่ต้องเชิญยืนไว้อาลัย)
-  เจ้าภาพเชิญแขกผู้ใหญ่ทอดผ้าบังสุกุล โดยจัดลำดับจากผู้มีอาวุโสน้อยไปหาผู้มีอาวุโสขึ้นไปตามลำดับ
-  ประธานในพิธีทอดผ้าบังสุกุลหน้าศพ
-  ประธาน ฯ (กรณีพระราชทานเพลิงศพ ให้ถวายคำนับยังทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ฯ
    ในวันนั้น) วางกระทงดอกไม้ (เครื่องขมา)
-  เป่าแตรนอน 1 จบ (กรณีจัดกองเกียรติยศ)
-  เจ้าหน้าที่เพลิงหลวงส่งธูปเทียน และดอกไม้จันทน์ให้ประธาน ฯ (ทำในเขตกรุงเทพ ฯ)
-  ประธาน ฯ ลงจากเมรุ
-  เจ้าภาพเชิญแขกขึ้นประชุมเพลิง
-  เสร็จพิธี
               หมายเหตุ -  ตามตัวอย่างนี้เป็นศพทหารซึ่งต้องมีกองเกียรติยศ ถ้าเป็นศพไม่มีกองเกียรติยศ
    ก็ต้องตัดรายการเกี่ยวกับกองเกียรติยศออก
-  ศพที่มีกองเกียรติยศ ไม่ต้องเชิญยืนไว้อาลัยหลังอ่านคำไว้อาลัย
-  รายการนี้สมมติขึ้นเต็มอัตรา ซึ่งยังย่อส่วนได้เพื่อการประหยัด เช่น
    ตัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระตอนเช้าออกได้ คงเหลือพิธีเทศน์มาติกาบังสุกุลตอนบ่าย
-  และตัวอย่างนี้ตั้งศพทำบุญที่วัด ถ้าตั้งศพทำบุญที่บ้านก่อน แล้วเคลื่อนศพมาที่วัดในวันนั้น
    ก็เดินเวียนเมรุแล้วนำศพขึ้นเมรุต่อไป
-  เวลาเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
-  หากมีผ้าทอดจำนวนหลายผืน จะเชิญญาติและแขกผู้ใหญ่ทอดก่อนอ่านคำไว้อาลัยก็ได้
    โดยเหลือไว้สำหรับประธาน ฯ 1 ผืน หรือ 1 ไตร
การเก็บอัฐิ
เมื่อจัดการฌาปนกิจเสร็จแล้ว การเก็บอัฐิ บางรายในตอนเย็นวันเผาเลย ทั้งนั้น เพื่อจะฉลองเสร็จในคราวเดียวกัน โดยเก็บอัฐิในเวลาประมาณ 19.00 น. แล้วนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลเช่นเดียวกับพิธีก่อนเผาในคืนวันนั้น เวลาประมาณ 20.00 น. นิมนต์พระสวดพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้นถวายภัตตาหารเช้า แล้วนำอัฐิไปบรรจุหรือเก็บกลับบ้าน ก็เป็นเสร็จพิธี แต่ส่วนมากเก็บอัฐิในวันรุ่งขึ้น เช่นเดียวกับพิธีทางราชการ
สำหรับชนบทบางที่ นิยมเก็บในวันที่ 7 จากวันเผา แล้วนำไปบำเพ็ญกุศลดังกล่าวมา
การเดินสามหาบ
การเดินสามหาบ ก็คือ พิธีเก็บอัฐินั่นเอง แต่เป็นพิธีเก็บอัฐิแบบเต็มหรือแบบพิเศษ ซึ่งก็มีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งจะกล่าวต่อไป
รุ่งขึ้นเช้า เจ้าภาพไปเก็บอัฐิ เตรียมเครื่องบูชาและเครื่องสามหาบไปด้วย คือ เครื่องทองน้อย (ธูป 1  เทียน 1  ใส่เชิงเล็กและดอกไม้ทำเป็น 3 พุ่ม) 1 ที่,  สุหร่าย (ขวดโปรยน้ำ)   ใส่น้ำอบไทย 1 ขวด   พานใส่เงิน (เศษสตางค์) 1 พาน และที่ที่จะใส่อัฐิ ของเหล่านี้วางไว้ตรงข้างศีรษะอัฐิ
เมื่อพร้อมกันแล้วก็ตั้งต้นเดินสามหาบ คือ มีของไปถวายพระ เลี้ยงพระ 3 ชุด ชุดที่หนึ่งมีไตรครอง เป็นประเภทเครื่องนุ่งห่ม ชุดที่สองที่มีสำรับคาว 1 หวาน 1 เป็นเครื่องกิน ชุดที่สามมีหม้อข้าวเตาไฟเครื่องใช้
หรือจะจัดสามหาบอีกหนึ่งก็ได้คือ จัดให้มีหม้อข้าวเชิงกราน และพริก หอม กระเทียม ฯลฯ อยู่ในสาแหรกข้างหนึ่ง สาแหรกอีกข้างหนึ่งมีของคาวหวาน และเหมือนกันอย่างนี้ทั้งสามหาบ จัดให้บุตรหลานหรือเครือญาติ 3 คน เป็นผู้หาบคนละหาบ
หรือสามหาบอีกแบบหนึ่ง จัดคนขึ้น 9 คน แบ่งเข้าชุด 3 คน ต่อ 1 ชุด ชุดหนึ่ง ๆ มีดังนี้คือ ถือไตร 1 คน, ถือจาน ช้อนซ่อม แก้วน้ำ 1 คน, หาบสำรับคาวหวาน 1 คน จัดอย่างนี้ทั้ง 3 ชุด เดินเวียนเมรุคนละหรือชุดละ 3 รอบ เวลาเดินให้กู่กันด้วยตามวิธีชาวป่า เรียกกันว่า “วู้ ๆ ๆ” คนและ 3 ครั้ง แล้วจึงนำสามหาบขึ้นตั้งยังอาสน์สงฆ์
เมื่อเดินสามหาบแล้วก็ขึ้นไปเก็บอัฐิ จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยแล้ววางไตร 3 ไตรบนผ้าคลุมอัฐินั้น แล้วนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นไปชักผ้าบังสุกุลนั้น จากนั้นจึงเปิดผ้าคลุมออกพรมน้ำอบ และเก็บอัฐิใส่ที่ที่เตรียมไว้ แล้ววางบนพาน ส่วนเถ้าถ่านคือ อังคารรวบรวมใส่ผ้าขาวที่รองนั้น รวบชายขึ้นห่อใส่ในที่ใส่อังคารที่เตรียมไป แล้วเชิญอัฐิและอังคารกลับลงมาตั้งที่ทำบุญ เลี้ยงพระสามหาบและบังสุกุล แล้วก็เป็นอันเสร็จงาน หรือถ้าไม่มี 3 หาบ ก็เก็บอัฐิอังคารและบังสุกุล ณ ที่นั้น เป็นอันเสร็จพิธี ตอนที่ลงจากเมรุแล้วขึ้นบันไดบ้าน เมื่อถึงบ้านนั้น เจ้าภาพจะโปรยเศษสตางค์เป็นการให้ทานด้วย
แปรธาตุ
ประเพณีเกี่ยวกับการเก็บอัฐิมีอยู่ว่า เมื่อถึงเวลาเก็บอัฐิ จะเป็นในวันเผา หรือในวันรุ่งขึ้น หรือ 3 วัน 7 วัน หลังจากเผาเสร็จก็ตาม ครั้งแรกให้ทำกองกระดูกให้เป็นรูปคนนอนหงาย หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก สมมติว่าตาย แล้วนิมนต์พระมาบังสุกุล ตอนนี้เรียกว่า “บังสุกุลตาย” จะมีผ้าทอดก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ พระสงฆ์จะพิจารณาว่า “อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปปาทวยธมฺมิโน อุปปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺ ติ เตสํ วูปสโม สุโข” เมื่อพระพิจารณาจบแล้ว ก็ให้ทำรูปอัฐินั้นใหม่ เป็นรูปคนหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก สมมติว่าเกิด แล้วเจ้าภาพก็ใช้น้ำหอมประพรมโปรยด้วยดอกไม้และเงินทอง นิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เรียกว่า “บังสุกุลเป็น” พระสงฆ์บังสุกุลว่า “อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นอรตฺถํ วกลิงฺครํ” แล้วทำการเก็บอัฐิ
เมื่อเก็บอัฐิตามต้องการแล้วอัฐิที่เหลือรวมทั้งเถ้าถ่านก็รวบรวมไปบรรจุ, ทิ้งแม่น้ำหรือฝังในที่เหมาะสมต่อไป
ทำบุญอัฐิ(ออกทุกข์)
เมื่อเก็บอัฐิเสร็จตอนเช้า และนำอัฐิไปถึงบ้านแล้ว จะทำบุญในวันนั้นทีเดียว หรือจะพัก 3 วัน หรือ 7 วัน จึงทำก็ได้ รายการมีสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ บังสุกุล เทศน์ มีตักบาตรน้ำมนต์ เดินสายสิญจน์ เพราะเป็นการทำบุญเรือนให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่ข้างหลัง ในการทำบุญอัฐิ (ออกทุกข์) เจ้าภาพแต่งกายสีต่าง ๆ จากสีขาว – ดำได้
หลักเกณฑ์การจัดกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหารซึ่งเสียชีวิตในขณะประจำการ
การปฏิบัติของประธาน และผู้เข้าร่วมพิธี ในพิธีต่าง ๆ และระเบียบปฏิบัติราชการบางเรื่องที่ควรทราบ และถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
โอกาสในการจัดกองทหารเกียรติยศ
สำหรับทหารซึ่งเสียชีวิตในขณะประจำการนั้น ให้จัดกองทหารเกียรติยศเมื่อเวลาเผาหรือฝัง ตามลัทธิศาสนาของผู้เสียชีวิต แต่ให้งดจัดสำหรับศพทหาร ซึ่งเสียชีวิตเนื่องจากตนเองกระทำความผิด หรือประพฤติชั่ว
การจัดกำลังของกองทหารเกียรติยศ0 คน) ถือปืนเล็กล้วน มีแตรเดี่ยว
กรณีการจัดกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหารนั้น ถ้ามีหลายศพในที่เดียวและเวลาเดียว ซึ่งจะต้องทำการเคารพศพพร้อมกัน ให้จัดกำลังตามอัตราของศพที่มียศสูง แต่เพียงรายเดียว นอกจากนั้นการจักกองทหารเกียรติยศสำหับศพทหาร ให้พยายามจัดทหารจากหน่วย หรือเหล่าเดียวกับผู้เสียชีวิต หรือจัดจากหน่วยที่ผู้เสียชีวิตเคยบังคับบัญชา หรือเคยประจำมาแต่ก่อน
การแต่งเครื่องแบบของกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหาร ให้แต่เครื่องแบบฝึกสวมถุงมือสำหรับนายทหารชั้นจ่านายสิบขึ้นไป ให้คาดกระบี่ โดยมีลายละเอียดของเครื่องแต่งกายเช่นเดียวกับของทหารเกียรติยศ ในการต้อนรับ และส่งผู้บังคับบัญชาของทหาร ดังนี้
รองในหมวกเหล็กสีกากีแกมเขียว มีสายรักคางหนังสีขาว
เสื้อคอเปิดสีกากีแกมเขียว และผ้าพันคอสีน้ำเงินอ่อน ยกเว้นทหารซึ่งจัดเป็นกองทหารเกียรติยศ ที่สังกัด รร.จปร.ใช้ผ้าพันคอบานเย็น
กางเกงขายาวสีกากีแกมเขียวแบบฝึก
เข็มขัดหนังสีขาว หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทอง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทางนอนปลายมน พื้นเกลี้ยงมีรูปเครื่องหมายกองทัพบก ดุนนูนอยู่กึ่งกลางหัวเข็มขัด
รองเท้าสูงครึ่งน่องหนังสีดำ ชนิดผูกเชือก
สายนกหวีดทำด้วยด้ายถักหรือไนล่อนถักสีขาว ลักษณะเป็นสายถัก 4 สาย และสายเกลี้ยง 1สาย โดยสายถัก 2 สาย เป็นบ่วงคล้องใต้แขนซ้าย ส่วนสายถัก 2 สายทำเป็นบ่วงขนาดใหญ่ และเล็กห่างกันพองาม พาดต้นแขนซ้าย ปลายสายเกลี้ยงให้ติดตุ้มโลหะสีทอง 1 ตุ้ม เมื่อใช้สายนกหวีดนี้ไม่ใช้สายยงยศอย่างอื่นอีก
ซองกระบี่ หรือซองดาบทำด้วยหนังสีขาว
ถุงมือสีขาว
สายสะพายปืนทำด้วยหนังสีขาว
สำหรับกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหาร ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย
การปฏิบัติของกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหารในงานพระราชทานเพลิงศพ หรืองานฝังศพทหาร        การแสดงความเคารพของกองทหารเกียรติยศ
กองทหารเกียรติยศซึ่งจัดไปเคารพศพ ให้แสดงการเคารพศพในเวลาเผา หรือฝังโดยให้แตรเดี่ยวเป่าเพลงนอน 1 จบ แล้วให้หน่วยทหารเคารพศพกระทำวันทยาวุธ แตรวงหรือแตรเดี่ยวบรรเลงเพลงเคารพ เมื่อจบแล้วทำเรียบอาวุธ คงอยู่ในท่าตรง ถ้ามีแตรวงให้บรรเลงเพลงโศก 1 จบ จึงเสร็จการปฏิบัติ

การปฏิบัติของกองทหารเกียรติยศ และผู้ที่ได้รับเชิญให้เป็นประธานในงานพระราชทานเพลิงศพทหาร        ผบ.กองทหารเกียรติยศ นำกองทหารเกียรติยศเข้าประจำที่แล้วสั่งแถวเรียบอาวุธ และให้กองทหารเกียรติยศหันเข้าหาศพ เสร็จแล้ว ผบ.กองทหารเกียรติยศสั่งติดดาบและยืนรอเวลาจนกว่าพิธีกรอ่านประกาศเกียรติคุณ (ประวัติโดยย่อ) ของผู้ที่ได้รับพระราชทานเพลิงศพเจ้าภาพจะเชิญผู้บังคับบัญชา หรือผู้เป็นประธานในพิธีของงานพระราชทานเพลิงศพให้ขึ้นเมรุ เพื่อจะทอดผ้ามหาบังสุกุลเมื่อประธานในพิธี ฯ ได้ทอดผ้ามหาบังสุกุล และลงจากเมรุแล้วประธานในพิธีฯ ต้องหันหน้าไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ถวายคำนับแล้วรับเครื่องขมาศพ (กระทงข้าวตอก และกระทงดอกไม้) จากพนักงานพระราชพิธีของสำนักพระราชวัง ไปวางที่ฐานฟืนหน้าหีบศพ ขณะที่ประธานฯ วางกระทงข้าวตอก ดอกไม้ ผบ.กองทหารเกียรติยศจะสั่งให้กองทหารเกียรติยศจะสั่งให้กองทหารเกียรติยศแถวตรง แตรเดี่ยวเป่าเพลงนอน 1 จบ จบแล้วประธานฯ หยิบธูปเทียน ตอกไม้จันทน์ จุดเพลิงพระราชทานจากโคมไฟที่เจ้าพนักงานพระราชทานถือเชิญไปสอดวางลงในใต้พื้นรองศพ ผบ.กองทหารเกียรติยศ จะสั่งให้กองทหารเกียรติยศแสดงความเคารพ โดยใช้คำบอกว่า “ตรงหน้า ระวัง วันทยาวุธ” แตรเดี่ยวเป่าเพลงเคารพ 1 จบ ประธานในพิธีฯ คำนับศพ 1 ครั้ง แล้วหันหน้าไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ถวายคำนับ 1 ครั้ง แล้วเดินลงจากเมรุ จากนั้นผบ.กองทหารเกียรติยศ จะสั่งเรียบอาวุธ ปลดดาบ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงโศก 1 จบ และสั่งให้กองทหารเกียรติยศทำซ้ายหรือขวาหันแบกอาวุธ แล้วเดินออกจากพื้นที่ จึงเสร็จการปฏิบัติ
การปฏิบัติของกองทหารเกียรติยศและผู้ที่ได้รับเชิญให้ประธานในงานเผาศพทหาร
การปฏิบัติของกองทหารเกียรติยศ ในงานเผาศพทหาร จะมีขั้นตอนคล้ายคลึงกับการปฏิบัติในงานพระราชทานเพลิงยศทหาร ในข้อ 4.2 ทั้งในส่วนของประธานและของกองทหารเกียรติยศ ยกเว้น ประธานในพิธีของงานไม่ต้องถวายคำนับ และรับเครื่องขอขมาศพจากพนักงานพระราชพิธีของสำนักพระราชวังไปวางที่ฐานพื้นหน้าหีบศพ
นอกจากทหารซึ่งเสียชีวิตในขณะประจำการ หรือในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการจะได้รับการจัดกองทหารเกียรติยศ สำหรับศพทหารในเวลาเผาศพหรือฝังศพแล้ว เมื่อเวลาประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลทางศาสนา กห. ยังได้จัดให้มียามเกียรติยศศพทหารแก่ทหาร ซึ่งเสียชีวิติในการรบ หรือเนื่องจากการรบ หรือซึ่งเสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการในกรณีอื่น ซึ่งทางราชการพิจารณาเห็นว่า เป็นผู้ประกอบคุณงามความดี สมควรยกย่องเชิดชูเกียรตินั้น โดยจัดให้มียามคู่ 1 คู่ หรือ 2 คู่ ยืนเป็นผลัดประจำตลอดเวลาที่บำเพ็ญกุศล และให้เริ่มก่อนพิธีประมาณ 30 นาที และเลิกเมือการบำเพ็ญกุศลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตายที่ได้เสียสละอย่างสูง และให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบด้วย
การแต่งกายของยามเกียรติยศศพทหารนี้ ให้แต่งกายด้วยเครื่องแบบฝึก สวมรองในหมวกเหล็ก ถืออาวุธประจำกายในท่าสำรวม และแสดงความอาลัยโดยตั้งพานท้ายปืนขึ้นข้างบน มือทั้งสองประสานวางบนพานท้ายปืน
ก้มหน้ามองพื้นในทิศทางตรงหน้า หันหน้าไปยังทางที่ตั้งศพ
อนึ่ง   ทหารที่เสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และการเสียชีวิตนั้นมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง หรือเกิดจากความผิดของตนเองแล้ว ยังได้รับเกียรติให้ใช้ธงชาติคลุมหีบศพ เมื่อจะเชิญศพไปทำพิธีพระราชทานน้ำอาบศพ หรือพิธีรดน้ำศพ หรือในระหว่างการทำพิธีบำเพ็ญกุศลทางศาสนาของแต่ละศาสนา และการเชิญศพไปฝังอีกด้วย และการใช้ธงชาติคลุมศพและหีบศพให้ปฏิบัติดังนี้
การคลุมศพ   คลุมศพตามความยาวของศพ ให้ขอบธงชาติด้านคันธงชาติอยู่ทางศีรษะของศพ
การคลุมหีบศพ   คลุมทางด้านขวางของหีบศพให้ชายธงชาติเสมอกับของล่างของหีบศพทั้งสองข้าง   กรณีศพทหารเมื่อเวลาเผาหรือฝัง ให้จัดกำลังดังนี้
ศพทหารชั้นนายพันขึ้นไป ให้จัดกำลัง 1 กองร้อย (3 หมวด) ถือปืนเล็กล้วน มีแตรเดี่ยว และแตรวง (ถ้ามี)
ศพทหารชั้นนายร้อย ให้จัดกำลังกึ่งกองร้อย (2 หมวด) ถือปืนเล็กล้วน มีแตรเดี่ยว
ศพนายทหารชั้นประทวน และศพนักเรียนทหาร ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้เป็นนายทหารสัญญาบัตร ให้จัดกำลัง 1 หมวด (2 หมู่) ถือปืนเล็กล้วน มีแตรเดี่ยว
ศพพลทหาร และศพนักเรียนทหาร ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้เป็นนายทหารประทวน ให้จัดกำลัง 1 หมู่ (1

ระเบียบงานศพ
ตั้งแต่โบราณกาลมา พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชาคณะ ข้าราชการ เมื่อสิ้นพระชนม์ มรณภาพ หรือถึงแก่กรรม จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพ เช่น โกศ หีบ เป็นต้น เมื่อถึงเวลาที่จะทำการเป็นฌาปนกิจศพ ก็พระราชทานดอกไม้ธูปเทียน และไฟหลวงไปเผาศพผู้ที่จะได้รับพระราชมานเกียรติยศ ในปัจจุบันนี้ได้วางระเบียบไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับพระราชทานน้ำอาบศพ เครื่องประกอบเกียรติยศศพ และพระราชทานเพลิงศพมีดังนี้ :-
ผู้ถึงแก่กรรมมีสิทธิขอรับพระราชทานน้ำอาบศพ เครื่องประกอบเกียรติยศศพ และขอพระราชทานเพลิงศพ คือ
1.   พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ตั้งแต่พระครูสัญญาบัตรขึ้นไป
2.   พระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป
3.   ผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์รองเสวกตรี หรือรองอำมาตย์ตรีขึ้นไป
4.   ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นตรีขึ้นไป
5.   ข้าราชการฝ่ายทหาร และตำรวจชั้นร้อยตรี ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
6.   สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ได้รับพระราชทานยศ ตั้งแต่ชั้นนายหมวดขึ้นไป
7.   ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย หรือตติยานุจุลจอมเกล้า หรือจตุตถจุลจอมเกล้าขึ้นไป
8.   ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบัน
9.   พนักงานเทศบาลตรีขึ้นไป
10. สมาชิสภาผู้แทนราษฎร สามาชิกวุฒิสภา สามาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล ที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
11. รัฐมนตรีที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
12. ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เป็นกรณีพิเศษ
ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สามาชิกวุฒิสภา สามาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล หรือรัฐมนตรี เมื่อถึงแก่กรรม เมื่อพ้นตำแหน่งแล้ว หากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว ก็ขอพระราชทานเครื่องประกอบเกียรติยศศพได้
ในการที่จะขอพระราชทานเครื่องเกียรติยศศพได้ ผู้ถึงแก่กรรมจะต้องถึงแก่กรรมโดยไม่ใช่อัตวิบาตกรรม
ผู้จะขอพระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพ จะได้รับพระราชทานเมื่อการศพนั้นจัดในจังหวัดกรุงเทพมหานคร
ผู้ที่ประสงค์จะขอพระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศ จะต้องปฏิบัติดังนี้
นำดอกไม้ธูปเทียนพร้อมทั้งหนังสือกราบถวายบังคมลาไปยังสำนักพระราชวัง พร้อมทั้งในมรณบัตร ซึ่งสำนักงานพระราชวังได้จัดที่ประดิษฐานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ไว้ (ภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ราชาศัพย์ ” พระบรมฉายาลักษณ์” หรือ “พระบรมสาทิสลักษณ์” ก็ได้) ดอกไม้ธูปเทียนที่ใช้มนการนี้ ประกอบด้วยธูปไม้ระกำ 1 ดอก, เทียนขี้ผึ้ง 1 เล่ม, ดอกไม้ 1 กระทง, วางบนพาน และมีคำกราบบังคมทูลตามแบบต่อไปนี้
วันท…….. เดือน…….. พ.ศ. ………. ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ดอกไม้ธูปเทียนของข้าพระพุทธเจ้า……… (ชื่อผู้ถึงแก่กรรม)……… ราชอิสริยาภรณ์……… อายุ…… ปี ข้าราชการ… ชั้น……… สังกัด……………………..
ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลา………. ด้วยโรค…………. ที่อำเภอ……… จังหวัด…………… เมื่อวันที่……… เดือน………… พ.ศ……… เวลา……
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ขอเดชะ
หนังสือข้างตนนี้ไม่ต้องลงนาม ผู้นำไป นำขึ้นวางบนพานเบื้องหน้าพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พร้อมกับดอกไม้ธูปเทียนแล้วถวายความเคารพ เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จะสอบถามรายการต่าง ๆ และกรอกลงในแบบพิมพ์ ในการถึงแก่กรรมนี้ จะไม่ขอพระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพ จะขอพระราชทานในตอนฌาปนกิจศพก็ได้
ถ้าจะตั้งศพที่วัด การติดต่อวันและการติดต่อเทศบาล เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพดำเนินการเอง
ในการขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพนั้น เข้าใจกันว่า จะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด คำว่า “พระราชทาน” ก็เป็นที่ควรเข้าใจแล้วว่าย่อมไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ค่าใช้จ่ายส่วนที่เจ้าภาพจะต้องจ่าย ก็เป็นส่วนนอกออกไปจากที่ได้รับพระราชทาน เช่น ค่าซื้อหีบลองใน ค่าผ้าขาวด้ายดิบ ค่าตั้งศพที่วัด ส่วนเครื่องประกอบเกียรติยศ ตลอดจนเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังที่ไปปฏิบัติพิธีนั้น เจ้าภาพไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้จะเก็บศพไว้นานวัน ถ้าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอรับหีบ หรือโกศลองนอกไปประกอบศพอื่นดังกล่าวข้างต้นแล้ว สำหรับพระราชวังก็ไม่มาถอนหีบหรือโกศลองนอกออกไป และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหีบโกศแต่ประการใดเลย
เมื่อไปกราบถวายบังคมลา และแจ้งรายการเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าภาพก็นำศพไปยังที่อาบน้ำ เมื่อนำศพไปไว้บนเตียงอาบน้ำแล้ว ก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่ประสงค์จะอาบน้ำศพเข้าอาบได้ จนถึงเวลาที่จะพระราชทานน้ำหลวง ซึ่งเป็นสุดท้าย ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็จะได้ทำสุกำศพ
ใกล้เวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังก็เชิญน้ำพระราชทานไป ซึ่งประกอบด้วยน้ำ น้ำหอม และน้ำขมิ้น
เมื่อถึงเวลาจะรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เจ้าภาพก็เชิญผู้มีอาวุโส ซึ่งอยู่ในขณะนั้น หรือผู้ที่เจ้าภาพกำหนดตัวไว้เข้าไปพระราชทานน้ำ เป็นที่นิยมกันว่า ก่อนที่ผู้เป็นประธาน จะอาบน้ำศพ ให้บ่ายหน้าไปทางทิศ ซึ่งเป็นที่ประทับแรม ถวายคำนับ แล้วจึงปฏิบัติการต่อไป เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะส่งสิ่งของให้ตามลำดับ คือ น้ำ น้ำหอม น้ำขมิ้น ผู้เป็นประธาน รดน้ำนั้นที่ศพโดยเริ่มจากบ่าขวาเฉียงลงมาตามอก ไม่ต้องรดจนหมดก็ได้ เมื่อรดน้ำขมิ้นแล้วให้บ่ายหน้าไปถวายคำนับอีกครั้ง เจ้าหน้าที่จะวางศพลงในท่านอนตามเดิม   ต่อจากนั้น ทายาทผู้ถึงแก่กรรมก็เข้าไปหวีผมให้ศพ การหวีผมตามประเพณีก็หวีลงแล้วหวีขึ้น แต่จะหวีอย่างธรรมดาก็ได้ ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่จะสุกำศพ
เมื่อทำกุกำศพเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะยกหีบศพหรือโกศขึ้นตั้งผู้ที่อยู่ ณ ที่นั้น ควรยืนแสดงการเคารพ แล้วตั้งแต่เครื่องประดับ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพ
ที่ตั้งนั้นไม่ควรจัดดอกไม้วางไว้บนฝาหีบศพ และไม่ควรจัดดอกไม้ประดับที่หีบศพ เพราะเป็นหีบเกียรติยศอยู่แล้ว ที่หน้าศพไม่ต้องตั้งชั้นลดหรือวางหมอนสำหรับกราบศพ (รวมทั้งไม่ตั้งชั้นลดหน้าโต๊ะพระพุทธรูปด้วย) ถ้าจะจัดเป็นที่กราบก็ควรปูพรมเล็ก ๆ ไว้บนพรมใหญ่อีกชั้นหนึ่ง และไม่ต้องตั้งกระถางธูปสำหรับผู้ไปเคารพศพปักธูป หากศพนั้นเป็นศพเกียรติยศ ก็จะสวดพระอภิธรรมเสียจบหนึ่งก่อน แล้วจึงบังสุกุล หรือสดับปกรณ์ส่วนของเจ้าภาพ
การสวดพระอภิธรรม
ศพที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ประถมาภรณ์ช้าางเผือกขึ้นไป นอกจากเครื่องประกอบเกียรติยศศพดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังทรงพระกรุราโปรดเกล้า ฯ ให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมด้วย จะพระราชทานให้มีสวดกี่คืน สุดแล้วแต่ระดับเกียรติยศศพของผู้ถึงแก่กรรม
พระที่จะสวดพระอภิธรรมมี 4 รูป การที่กำหนด 4 รูปนั้น เป็นจำนวนน้อยที่สุดของพระสงฆ์ พระภิกษุ 4 รูป จึงจะเป็นสงฆ์ โดยที่เป็นธรรมเนียมนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม จะต้องเป็น 4 รูป งานต่าง ๆ   จึงไม่นิยมนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป ความจริงไม่ใช่ข้อห้าม หรือกฎเกณฑ์อะไร งานใด ๆ จะนิมนต์พระเพียง 4 รูป ก็ได้ที่นิยมนิมนต์พระสงฆ์ 5 รูปขึ้นไป ก็เป็นเพียงการเสี่ยงไม่ให้เหมือนสวดพระอภิธรรมศพเท่านั้น
การสวดพระอภิธรรม แต่ก่อนนี้ มีถวายภัตตาหารเช้าวันรุ้งขึ้นด้วย แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีถวายภัตตาหาร คงถวายปัจจัยแทน ศพที่ได้รับพระราชทานพระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม ก็ได้รับพระราชทานเงินสำหรับถวายด้วย พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่จะจัดเครื่องใช้สักการะสำหรับเจ้าภาพจุดบูชาพระ ทำการสวดพระอภิธรรมด้วย ทั้งนี้เป็นการพระราชทาน เจ้าภาพไม่ต้องเสียค่าใช่จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

ประเพณีกวนข้าวทิพย์มีความสำคัญอย่างไร

Posted By on September 24, 2012

ประเพณีกวนข้าวทิพย์มีความสำคัญอย่างไร

ข้าวมธุปายาส (ข้าวสุกหุงด้วยนมโคจืดด้วยน้ำผึ้ง) ก่อนพุทธกาล (๒๖๓๒) เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ได้เสด็จออกทรงผนวช ได้เสวยข้าวทิพย์ของนางสาวสุชาดา บุตรีมหาเศรษฐีแห่งบ้านเสนานิคม ก่อนแต่งงานได้ไปบนกับเทวดาที่ต้นไทรว่า ขอให้ได้แต่งงานกับชายที่มีสกุลและฐานะเสมอกันและได้บุตรคนแรกเป็นชาย ต่อมานางก็สมปรารถนา จึงได้จัดแจงรีดน้ำนมจากแม่โค การรีดนมจากแม่โควันนั้นรีดง่ายเกินคาด แม้ว่าลูกโคไม่ได้กินนมในวันนั้น เมื่อนำภาชนะเข้าไปรอง กลับมีน้ำนมไหลออกมาเอง นางสุชาดาจึงจัดแจงปรุงข้าวมธุปายาสไปแก้ขนที่ต้นไทร นางสุชาดาได้พบพระมหาบุราคิดว่าเป็นเทวดา จึงทำพิธีแก้บนถวายภัตตาหารมื้อแรกที่พระองค์เสวยข้าวมธุปยาส (ข้าวทิพย์) แล้วตรัสรู้
ในวันนั้นพระมหาบุรากลับจากเที่ยวภิขาจารแต่เช้าได้ประดับอยู่ ณ โคนต้นไทรนั้น นางสุชาดาพบเข้าสำคัญว่าเป็นเทวดา จึงได้นำข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย เมื่อพระองค์ได้รับแล้ว ก็เสด็จขึ้นทำข้าวมธุปายาสหรือข้าวทิพย์นั้นได้ ๔๙ ก้อน เสวยเสร็จแล้วทรงลอยถาดทองเสียในแม่น้ำ ทรงรับหญ้าคา ๘ กำ จากโสตถิยพราหมณ์ แล้วเสด็จขึ้นโพธิมณฑลประทับที่ใต้ต้นโพธิพฤกษ์ ได้บรรลุพระสัพพัญญูตญาณเป็นพระพุทธเจ้า ในวันเพ็ญวิสาขปุณมี ทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ บริเวณโพธิมณฑลนั้นเป็นเวลา ๗ วัน คือ พุทธคยาในประเทศอินเดีย

ประวัติตามศิลาจารึก ๑ วัดพระเชตุพนฯ
กล่าวถึงชาวรามัญหุงข้าวทิพย์บูชาเทวดาผู้มีฤทธิ์เดช ๕ องค์ แต่คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้กล่าวถึงการกวนข้าวทิพย์เอาไว้ มีแต่การหุงข้าวมธุปายาส เมื่อตกมาเป็นพิธีไทยแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมแก่กาลเทศะรสนิยมคนไทย

ข้าวทิพย์นี้ เนื่องมาจากข้าวมธุปายาสของพราหมณ์หุงรับประทานกันไม่มีกำหนดแน่นอน เช่น นางสุชาดาหุงไปถวายพระพุทธเจ้าในวันวิสาขะ เดือน ๖  แม้ในอรรถกาธรรมบทก็กล่าวถึงข้าวมธุปายาสไว้หลายเรื่อง เช่น มิคารเศรษฐี พ่อสามีของนางวิสาขา บริโภคข้าวมธุปายาสอันมีน้ำน้อย และในมัคลัตถทีปนีได้กล่าวถึงเศรษฐีขี้เหนียวหุงข้าวมธุปายาสบริโภคเองก็ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าหุงรับประทานเมื่อไหร่ แต่ข้าวมธุปายาสของพราหมณ์ก็ไม่มีสิ่งของที่ใช้ในการกวนมากมายเหมือนข้าวทิพย์ของบ้านเรา ข้าวทิพย์เราถือกันว่าเป็นอาหารที่มีรสอร่อยคล้ายของทิพย์ (เทวดา) เมื่อกวนเสร็จแล้วก็แจกจ่ายกันบริโภคเพื่อระงับโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายเพราะก่อนรักษาและนำทิพโอชามาเจือลงในสิ่งของที่จะกวน กับอาราธนาพระสงฆ์ให้ตั้งเมตตาจิตเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อให้เกิดสิริสวัสดิมงคลแก่ผู้รับประทานข้าวทิพย์ จึงถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วยอำนาจพระปริตรและเทวานุภาพ ประวัติความเป็นมา
ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นพิธีกรรมของศาสนา พราหมณ์ที่มีสอดแทรกเข้ามาปะปนใน
พิธีกรรมทางพุทธศาสนา เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และบูชาพระรัตนตรัยอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ผู้ตาย ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นพระราชพิธีที่กระทำกันในเดือน ๑๐ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี และได้รับการฟื้นฟูครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมาละเว้นเลิกราไปในสมัยรัชกาล ที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ แล้วมาได้รับการฟื้นฟู อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา แต่ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะจัดกันในเดือน ๑๒ บางแห่งก็เดือนหนึ่ง ซึ่งคงจะถือเอาระยะที่
ข้าวกล้า ในท้องนามีรวงขาวเป็นน้ำนม ของแต่ละปี และชาวบ้านก็มีความพร้อมเพรียงกัน
ในจังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณที่ยังคงรักษาประเพณีกวน ข้าวทิพย์ มีเหลืออยู่เพียง ไม่กี่หมู่บ้าน
คือหมู่บ้านหัวงัว อำเภอยางตลาด ยังคงรูปเค้าโครง ของการรักษาประเพณี และมีความเชื่อถือ
อย่างมั่นคง เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งแฝงด้วยจริยธรรมและคติธรรมอยู่มาก ที่สมควรนำมากล่าวถึง
คือ ความพร้อมเพรียงของ ชาวบ้านทั้งที่ทำนา และไม่ได้ทำนาถึงเวลาก็มาร่วมจัดทำและ ช่วยเหลือโดยยึดถือ ความสามัคคีเป็นหลัก
พิธีกรรม
การจัดพิธีกรรม ยังคงรักษารูปเดิมไว้ โดยมีพราหมณ์ เข้าพิธี มีสาวพรหมจารีซึ่งจะพิถีพิถัน
คัดเลือกจากหญิงสาว ที่ยังไม่มีดอกไม้ (ระดู) ด้วยต้องการบริสุทธิ์สำหรับสาวพรหมจารีที่จะ
เข้าร่วมพิธี ต้องสมาทานศีล ๘ และต้องถือ ปฏิบัติตามองค์ศีลอย่างมั่นคง
ซึ่งการนำข้าวทิพย์ มาถวายพระสงฆ์ เป็นการนำข้าวทิพย์ มาถวายในการตักบาตรเทโว
คือตักบาตร และถวาย พระพุทธเจ้า ที่เปรียบเทวดา เพราะพระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ (จะเล่าในหัวข้อต่อไป)
>> ข้าวทิพย์ หมายถึง อาหารวิเศษ สำหรับถวายเทวดา( ในความหมายที่นี้หมายถึงองค์สมเด็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) เป็นอาหาร ที่ทำจากสิ่งต่างๆที่คนใช้รับประทานหลากหลายชนิด
จนเรียกว่าทำมาจากอาหาร 108 อย่าง เช่น น้ำนมข้าว ข้าวสาลีเกษตรสาคู เผือก มัน นม เนย
ผักผลไม้ มะพร้าว น้ำอ้อย ฯลฯ นำมาบดจนเป็นแป้ง ผสมในน้ำกะทิกรองเอาแต่น้ำ ใส่น้ำตาล แล้วนำมากวนบนไฟอ่อนๆ จึงเรียกว่า “ประเพณีกวนข้าวทิพย์”
>> ข้าวมธุปายาส เป็นข้าว ที่หุงด้วยน้ำนม อย่างดี ที่นางสุชาดา ธิดาของเศรษฐีหมู่บ้านเสนานิคม ได้นำ ไปบวงสรวงเทพยดาที่ใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทรใหญ่) ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ได้พบ
พระพุทธองค์ ประทับอยู่ใต้ต้นนิโครธเข้าใจว่าเป็นเทพยดา จึงได้ข้าวมธุปายาสไปถวาย เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยเสร็จแล้ว แล้วนางได้กล่าวแก่ พระสิทธัตถะว่า “ขอให้พระองค์
จงประสพความสำเร็จ ในสิ่งที่พระองค์ ทรงประสงค์ เช่นเดียวกับที่ดิฉัน ได้ประสพความสำเร็จ ในสิ่งที่ดิฉัน ประสงค์แล้ว เถิดเจ้าข้า” ดังนี้. พระองค์ทรงรับ บิณฑบาตนั้นแล้ว, ปั้นก้อนข้าวเป็น 49 ก้อน แล้วฉันจนหมด. อาหารมื้อนี้เอง เป็น อาหารมื้อก่อนการตรัสรู้ เป็นสมเด็จพระสัมมา
สัมพุทธเจ้า. โดยได้ทรงนำถาดทองที่ใส่ข้าวมธุปายาสนั้นไปลอยน้ำ และทรงอธิษฐานว่า
ถ้าหากพระองค์จะได้ตรัสรู้ก็ขอให้ถาดทองนั้นลอยทวนน้ำขึ้นไป เมื่อพระองค์ทรงวางถาดลงในน้ำ
ก็ปรากฏว่า ถาดทองลอยทวนน้ำขึ้นเหนือน้ำดังคำอธิฐาน ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าภัตตาหารมื้อนั้นได้มีส่วนทำให้พระองค์ได้สำเร็จและตรัสรู้อริยสัจ 4 ได้
>> ประเพณีการกวนข้าวทิพย์ เป็นประเพณีที่ชาวบ้านได้ปฎิบัติสืบต่อกันมา มีขั้นตอนการปฎิบัติโดย…. เริ่มจากวันก่อนออกพรรษา 1 วัน คือวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ทางวัดได้ประกาศให้พุทธศาสนิกชน นำวัตถุดิบที่มี มาบริจาค โดยทางวัดได้จัดทำบัญชีรับบริจาค โดยอุบาสกอุบาสิกา
ได้ลงมาวัดและเตรียมอุปกรณ์ วัตถุดิบต่างๆเช่นขูดมะพร้าว ปอกเปลือกผลไม้ นำมาบด นำมาตำ ละลายน้ำกะทิกรองเอาแต่น้ำ ในหมู่บ้านที่มีคนบริจาคมากจะได้น้ำแป้งกะทิมาก จนเวลาประมาณ บ่าย 2 – 3 โมง ก็นำหญิงพรหมจารีย์ ที่คัดเลือกมาจากเด็กหญิงที่ ยังไม่เป็นประจำเดือนมาจำนวน
4 คน เพื่อนำมาบวช ( นัยว่า เป็นตัวแทนของนาง สุชาดา ผู้นำข้าวมธุปายาส มาถวายพระพุทธเจ้า ) มาบวชชีพราหมณ์ นุ่งขาว ห่มขาว โดยพระภิกษุสงฆ์ เป็นผู้บวชให้ เมื่อบวชเสร็จก็แห่ ขบวน อันประกอบไปด้วย ขบวนหญิงพรหมจารีย์ 4 คน ถือไม้พายกวนข้าวทิพย์ และฟืนก่อไฟ คนละ 1 ดุ้น ขบวนผู้หญิงหาบหาม น้ำปรุงข้าวทิพย์ 4 ถัง ขบวนกลองยาวแห่ รอบโบสถ์ 3 รอบ ในขณะที่แห่วนรอบโบสถ์ พระภิกษุสงฆ์ก็จะสวดมนต์คาถา ลั่นฆ้องลั่นกลองครบ 3 รอบ
หญิงพรหมจรรย์ ก็จะไปที่เตาไฟ อุบาสิกา จะนำน้ำเครื่องทิพย์ มาเทลงกะทะ บนเตาไฟแล้วเติมฟืนที่นางเตรียมมา นางทั้ง 4 คน จะเป็นผู้เริ่มต้นกวน เป็นพิธี หลังจากนั้นก็ให้กลุ่มแม่บ้านและเยาวชนกวนต่อ ไป แล้วนำนางมาลาสิกขาบท ซึ่งชาวบ้านจะติดเตาไฟ 2 – 4 เตา เพื่อที่จะได้กวนช่วยกันจะใช้เวลากวน ประมาณ 30 -40 นาที น้ำเครื่องทิพย์จะจับตัวกันเป็นวุ้นเนื้อเดียวกัน
โดยไม่ติดกะทะก็ถือว่าสุกได้ที่ นำมาเทใส่ถาดแบนแล้วโรยหน้าด้วย ถั่วงา นำไว้ถวายพระ
ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็น เช้าของวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 วันตักบาตรเทโวโรหนะ
>> การตักบาตรเทโวโรหณะ ในวันออกพรรษา หมายถึง การทำบุญตักบาตรพระพุทธเจ้า
และเทวดาที่เสด็จลงมาจากเทวโลก สรวงสวรรค์ หลังจากพระองค์ เสด็จขึ้นไปจำพรรษา
เพื่อเทศนาโปรดพระมารดา เป็นเวลา 3 เดือน ชาวเมืองจึงมีความปิติยินดี ได้ทำบุญตักบาตร ให้พระพุทธเจ้าและเทวดา โดยการจัดทำอาหารวิเศษ ขึ้นมา เรียกว่า “ข้าวทิพย์”
เทโวโรหณะ “การลงจากเทวโลก” หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ตำนานเล่าว่า
ในพรรษาที่ ๗ แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษาใน
ดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาพร้อมทั้งหมู่เทพ ณ ที่นั้น เมื่อถึงเวลาออกพรรษาในวันมหาปวารณา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลับคืนสู่โลกมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสะ โดยมีเทวดาและมหาพรหมทั้งหลายแวดล้อมลงมา
ส่งเสด็จ ฝูงชนจำนวนมากมายก็ได้ไปคอยรับเสด็จ กระทำมหาบูชาเป็นการเอิกเกริกมโหฬารและพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม มีผู้บรรลุคุณวิเศษจำนวนมาก ชาวพุทธในภายหลังได้ปรารภเหตุการณ์พิเศษครั้งนี้ถือเป็นกาลกำหนดสำรับบำเพ็ญการกุศล ทำบุญตักบาตรคราวใหญ่แด่พระสงฆ์ เป็นประเพณีนิยมสืบมาดังปรากฏในประเทศไทย เรียกกันว่าตักบาตรเทโวโรหณะ หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า ตักบาตรเทโว บางวัดก็จัดพิธีในวันออกพรรษา คือวัน มหาปวารณา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บางวัดจัดถัดเลยจากนั้น ๑ วัน คือในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
>>การจุดประธูป ประทีป บนม้ากัณฐกะนำคำอธิษฐานไปสวรรค์ ชาวบ้านหัวงัว ได้สืบทอด
การทำข้าวทิพย์ หลายสิบปีมาแล้ว เริ่มในสมัยอาจารย์ แก้ว เป็นเจ้าอาวาส และมีอุบาสกอุบาสิกาหลายๆท่าน โดยมี คุณยายสุด ภูหานาม ได้พาญาติโยมพุทธศาสนิกชน บูรณะวัดศรีนวลครั้งยิ่งใหญ่ สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ ในวันออกพรรษา ทางวัดจะจัด 3 คืน โดย
ในคืนวันแรก ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 กวนข้าวทิพย์ แล้วยังจุดประธูป ประทีป ในการจุด
ประธูปประทีปจะสร้าง ม้ากัณฐกะจำลอง ขึ้นมา 1 ตัว ทำโครงด้วยก้านกล้วย บนเสา 4 ต้น ม้าตัวนี้
จะเป็นพาหนะนำคำอธิษฐานไปบนสรวงสวรรค์ ทำให้คำอธิษฐานเป็นจริง ……… ผู้ที่ทำบุญจะต้องมาจุดประธูปประทีป พร้อมอธิษฐาน ให้ครบ 3 คืน คำอธิษฐานจะเป็นจริงถือเป็นความเชื่อ
ที่ทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลายความทุกข์ใจ ของผู้ที่มีความสุขได้บ้าง และเป็นการทำจิตใจของผู้
ที่มีความสุข ให้มีความร่าเริง แจ่มใสยิ่งขึ้น
>>ในการทำประธูปประทีป…ก่อนวันออกพรรษาประมาณ 2 สัปดาห์ ในตอนหัวค่ำ ประมาณ1 ทุ่ม
พระภิกษุจะตีกลองโฮม เป็นสัญญาณ ให้แม่ออกพ่อออก (อุบาสกอุบาสิกา) หนุ่มสาว เยาวชน
ลงไปรวมกันที่วัด เพื่อพันประธูปประทีป โดย ใช้วัตถุดิบในการทำคือ ใช้ขลุยจากกาบมะพร้าวผสมกับว่านหอม คือ เนียม และอ้ม พันด้วยกระดาษสมุดนักเรียน มัดด้วยเส้นด้ายรอบๆอีกครั้งหนึ่ง เวลาจุดจุ่มน้ำมันก๊าดจะติดไฟง่าย>>การละเล่นของเยาวชนและเด็กๆ>>ในแต่ละคืน 3 คืนนั้นพระภิกษุท่านจะมีการละเล่นให้ พวกหนุ่มๆ และเด็กได้เล่นสนุกสนาน มีรางวัลเล็กๆน้อยๆให้
เกมที่ สนุกๆ คือ การปีนต้นเสาขึ้นไปแย่งชิง ลูกมะพร้าวหลอด( มะพร้าวแห้งที่ไม่สมบูรณ์) บนปลายเสา ใครขึ้นไปได้ก่อน เก็บผลมะพร้าวได้ก่อน จะเป็นผู้ชนะ และอีกเกมหนึ่งเป็นของพวกเด็กๆ คือพระท่าน จะโยนลูกมะพร้าวหลอด ขึ้นไปบนชานวัด ลูกมะพร้าวจะกลิ้งลงมา ใครแย่งได้ก่อน จะเป็นผู้ชนะ
>>ข้าวทิพย์ สูตรอาหารเทวดา สูตรข้าวทิพย์ ของบ้านหัวงัวจะหอม หวาน มัน กลมกล่อม
เป็นสูตรที่มีมาแต่ดั้งเดิม ดำรงมาตั้งแต่ สมัย คุณยายสุด ภูหานาม สืบทอดต่อมาถึง
คุณยายคำเวิน นระแสน ปัจจุบันนี้จะมีแม่ครัวคอยดูแลกำกับ คือ คุณแม่สิน ภูพันธ์หงษ์คุณแม่ยุพิน พัฒนชัย เป็นผู้ดูแลกำกับสูตรข้าวทิพย์ อาหารวิเศษณ์ ในปีนี้ ทางวัดได้รับบริจาค
เครื่องทำข้าวทิพย์อย่างล้นหลาม โดยมีการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้บริจาค โดยให้ฝ่ายแม่ครัว จัดทำดังนี้ คั้นน้ำกะทิเครื่องปรุง ได้ 2 โอ่งมังกร (ประมาณ 10 ปีบ) ใช้เตากวน 2 เตา ได้ข้าวทิพย์ 50 ถาด
เครื่องปรุง…108 อย่าง….อาทิเช่น.. 1.น้ำตาล 40 ก.ก. 2.มะพร้าว 80 ก.ก
.3.แป้งข้าวจ้าว 20 ถุง 4.นมข้นหวาน 30 กระป๋อง 5.เนย 5 ก.ก. 6.แปแซ 5 ก.ก.
7.นมแมว 2 โหล 8.ใบเตย 9.หัวมัน มันเทศ 5 ก.ก. 10.หัวเผือก 5 ก.ก.
11.หัวสาคู 2 ก.ก. 12.ฟักทอง 5 ก.ก. 13.ฟักแฟง ฟักเขียว 5 ก.ก.
14.เมล็ดถั่วลิสง 10 ก.ก.15.งา 2 ก.ก 16.เกลือ 17.น้ำนมข้าว (และแป้งข้าวสาลี)
18.ข้าวเม่า (ใช้โรยขณะใกล้สุก) 19.อ้อย 20.กล้วยสุก 21.และผลไม้ทุกชนิดที่ มี อย่างละ 1-2 ผล เช่น ส้มเขียนวหวาน เงาะกระป๋อง ลิ้นจี่กระป๋อง องุ่น พุทรา ละมุด มังคุด ขนุน น้อยหน่า ฝรั่ง ส้มเช้ง แอปเปิล ฯลฯ
วิธีการ/ขั้นตอน……..
……. นำมะพร้าวไปขูด คั้นกะทิ คั้นใบเตย นำเอาพืชผักผลไม้ ที่มีล้างให้สะอาด ปอกเปลือก แล้วนำมาตำ มาบด ให้ละเอียด ละลายน้ำกรองด้วยผ้าขาวบางแล้วนำมากวนให้เข้ากัน กับน้ำกะทิ
ใส่แป้งข้าวจ้าว น้ำตาล นม นมแมว เกลือ เสร็จแล้วนำไปกวนในกะทะบนเตาไฟ ประมาณ
30 – 40 นาที โดยกวนตลอดเวลา ขณะกำลังข้นก็ใส่ เนย แปแซ ข้าวเม่า พอสุกได้ที่เตรียมถาดใส่ โดยโรยเมล็ดถั่วลิสงผสมกับงาขั้ว รองก้นถาด เทข้าวทิพย์จากกะทะ ใส่ถาดแล้วโรยถั่วงาอีกครั้ง
>>นำข้าวทิพย์..ถวายพระ…… พอกวนข้าวทิพย์สำเร็จแล้ว ได้ข้าวทิพย์ 50 ถาด เก็บไว้ตักบาตรและถวายพระในตอนเช้าวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ที่เหลือจากตักบาตร ก็แบ่งให้ญาติโยม พุทธศาสนิกชน ที่มาทำบุญ นำกลับไปรับประทานที่บ้าน ……..เป็นอานิสงส์ของการมาทำบุญ ในวันออกพรรษา………..
>>>ความเชื่อ………………ก่อนออกพรรษา 7 วัน ถึง หลังออกพรรษา 7 วัน จะต้องมีฝนตกเพื่อ ล้างหางประธูป ประทีป ความหมายคือ ……เป็นวันสิ้นสุดฤดูฝน ปีนี้ ออกพรรษาวันที่ 14 ตุลาคม ฝนตกวันไหน และจะตกอีกวันไหน ท่านทบทวนและ สังเกตดู เพราะเป็นช่วงการเปลี่ยนฤดู……..ปลายฝน…….ต้นหนาว….นั่นเอง
ร่วมทำบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาของเรา
ปรารถนาดี จาก อ.พลนภา ภูหานาม

ความเป็นมาประเพณีรำผีฟ้า

Posted By on September 24, 2012

ความเป็นมาประเพณีรำผีฟ้า

มาดูประเพณีรำผีฟ้ากันครับ คิดไปคิดมาบ้านเราเนี่ยก็มีประเพณีเกี่ยวกับผีมากมายเหมือนกันนะครับลองดูครับว่า ประเพณีรำผีฟ้านี่มันยังไงกันนะครับ
 ประเพณีฟ้อนผีฟ้า
วัฒนธรรมของคนโบราณยึดถือลัทธิเทวราชในการดำเนินชีวิต มีพระประมุขเป็นองค์สมมุติเทพ โดยถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินว่าผีฟ้า ต่อมาคนไทยได้ยึดถือธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิต แต่ยังมิได้ละเลยต่อความเชื่อในด้านภูตผีวิญญาณแบบดั้งเดิม ทั้งนี้มีผลมาจากความเชื่อที่ว่าคนเราเมื่อตายไปแล้ววิญญาณจะยังคงอยู่ ดังเช่นในตอนท้ายในการทำบุญพิธีทุกครั้งจะต้องมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้วความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอัญเชิญให้สิ่งเหล่านี้มาร่วมในพิธีกรรมต่างๆ ยังคงยึดถือปฏิบัติมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ในพิธีกรรมทุกอย่างจะมีบทกล่าวนำเรียกชุมนุมเทวดา เพื่ออัญเชิญเทพกเฬวรากและภูตผีปีศาจทุกระดับชั้นมาร่วมพิธี ทั้งนี้ยังแสดงถึงความพยายามของคนไทยที่จะนำเอาโลกมนุษย์เข้าไปรวมกับโลกของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนมากคนไทยจะนับถือด้วยการเอาอกเอาใจ เพื่อขอความกรุณาปรานีและช่วยเหลือในยามตกทุกข์ได้ยาก แต่ก็ยังมีบางคนที่สามารถบังคับภูตผีด้วยเวทย์มนต์คาถาไปกระทำการงานดังที่ดังที่ตนได้กำชับไป บางรายก็บังคับผีให้ไปเข้าสิงสู่ร่างคน เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดป่วยหรือไม่สามารถกระทำงานใดๆได้ อาการของผีที่เข้าสิงร่างมนุษย์มีหลายแบบ เช่น ถ้าสิงร่างคนปกติจะมีกริยาท่าทางเปลี่ยนไปทันที เป็นต้นว่าอยู่ดีๆ เกิดตัวสั่นเป็นลมล้มชักตาตั้ง ร้องไห้ไม่หยุด หากเป็นคนไข้ที่นอนซมป่วยอยู่ก่อนแล้ว เชิญแพทย์มารักษาก็ไม่หาย อย่างนี้ไปหาหมอผีมาทำพิธีรักษาตามตำหรับที่ได้ร่ำเรียนมา เริ่มตั้งแต่ถามไถ่ว่าผีอะไรมาเข้าสิงผู้ป่วย
หากเป็นผีปู่ตามาเข้าสิงก็รักษาง่ายเพียงให้คนแก่ในบ้านจัดดอกไม้ธูปไว้ไหว้ขอขมาก็หาย สำหรับผู้ที่ป่วยอาการรักษายากมีอาการน่าเป็นห่วง รักษาเท่าใดก็ไม่หาย อาการมีแต่ทรงกับทรุด แบบนี้ต้องไปตามหมอพระมาตรวจดูอาการไข้ รวมทั้งหมอผีจะอัญเชิญผีฟ้ามาช่วยรักษาเพราะพวกหนึ่งเป็นฝ่ายธรรมะ อีกพวกหนึ่งเป็นฝ่ายภูตผีปีศาจ ย่อมมีวิธีการที่ดีกว่า นอกจากผีฟ้าจะช่วยรักษาคนป่วยแล้ว หากผู้ป่วยรายใดผีฟ้ารักษาไม่ได้ หมอผีจะหันไปหาเจ้าพ่อ เพื่อถามเรื่องดวงชะตาของผู้ป่วยให้แน่ชัดถึงฆาตหรือยังความเชื่อเหล่านี้สืบเนื่องมานาน นับตั้งแต่ยุคสมัยที่แผ่นดินอีสานยังเป็นป่ารกทึบ
การไปมาหาสู่ลำบากลำบนและเต็มไปด้วยอันตรายจากสัตว์ร้าย ผีฟ้า คือตัวแทนอำนาจที่อยู่เหนือสิ่งมีชีวิต คอยบันดาลความสุข รักษาให้หายจากภัยแห่งโรค ด้วยวิธีการฟ้อนซึ่งมักจะสำเร็จทุกราย แต่ผีฟ้าเหล้านี้ขึ้นตรงต่อพระองค์เจ้าตื้อแห่งภูพระ ซึ่งเป็นภูเขาเตี้ย ๆ อยู่ในท้องที่ตำบลนางเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทศเหนือ 12 กิโลเมตร พระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปลาย

จำหลักนูนต่ำติดแผ่นผา นั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ซ้ายวางพาดอยู่ที่พระชงฆ์ ขนาดหน้าตัก5 ฟุต สูง 7 ฟุต รอบข้างปรากฏเป็นรอยแกะหินปูนพระสาวกอีก 7 องค์บรรดาผีฟ้าต่างก็เป็นบริวารของพระองค์เจ้าตื้อ ส่วนร่างทรงก็จะถ่ายทอดกันต่อๆไป จากยายสู่แม่ จากแม่สู่ลูกสาว เขามีวิธีเชิญ มีวิธีบอก แยกย้ายกันอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เมื่อถึงปีร่างทรงเหล่านี้ก็จะมารวมตัวกันที่นี่ มาฟ้อนไหว้พระองค์เจ้าตื้อ ลูกศิษย์ของเขาก็จะติดตามมาเป็นขบวนใหญ่ มีการรวมเงินทองมาทำบุญ สร้างถาวรวัตถุต่างๆขึ้น ผู้คนที่เดินทางมาสักการบูชาพระเจ้าตื้อ มักจะขออะไรก็สมปรารถนา บางคนอาจมาขอบนลูก มิช้านานก็สัมฤทธิ์ผล ต่อจากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนในการประกอบพิธี

เครื่องประกอบพิธีมีดังนี้1. พระองค์เจ้าตื้อ2. คนทรง ( นางเทียม )3. สิ่งของที่ผีฟ้าอยากได้4. หมอแคน5. พุ่มบายศรี6. ผ้าไตร
                             7. ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ที่ทำจากกระดาษสี
ขั้นตอนในการประกอบพิธี
      การฟ้อนผีฟ้าจะกระทำขึ้นในระหว่างวันขึ้น 13 ถึง15 ค่ำ เดือน 5 คือเดือนเมษายน และ ในวันเข้าพรรษา ออกพรรษา ซึ่งประชาชนไปทำบุญกันมาก ความหมายของการกลับสู่เหย้าของชาวอีสานนั้น นอกจากมากราบไหว้ผู้บังเกิดเกล้าของตนแล้ว เขาจะพากันไปกราบไหว้พระเจ้าตื้อ นอกจากนั้นยังมีการร่ายรำบางสรวงที่เรียกว่า ฟ้อนผีฟ้า เพื่อเป็นการเส่นสรวงที่พระองค์เจ้าตื้อ ได้บันดาลให้พวกเขามีความร่มเย็นเป็นสุขในรอบปีที่ผ่านมาอีกด้วย นางเทียมทุกคนจะนั่งสงบในท่าสมาธิ และ  ประนมมือ ในระหว่างทำพิธีจะมีหมอแคนขับกล่อมนางเทียม เมื่อผีฟ้าเข้าสิงจะมีอาการตัวสั่น  กระทืบเท้า แล้วสั่งให้หาเครื่องแต่งตัวตามที่ชอบมาสวมใส่ ซึ่งแต่ละคนจะทราบแล้วว่าแต่ละองค์นั้น
ชอบแต่งตัวชนิดใด เช่นผีฟ้าผาแดง ชอบผ้าสีแดง สไบแดงและดอกไม้แดง เป็นต้น บางคนก็โพกผ้าขามม้าผ้าไหม เคี้ยวหมากพลู กินเหล้า บางคนก็สูบบุหรี่ผสมพริกขี้หนู โดยปราศจากอาการไอหรือจาม เมื่อแต่งตัวเสร็จก็ลุกขึ้นรำ บางองค์ ก็ลุกขึ้นร่ายรำเป็นจังหวะเข้ากับเสียงแคน สุดแต่ทำนองแคนจะพาไป ซึ่งโดยมากเป็นพญาลอบทจรนี้ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ ล่องโขง ” บ้าง “ แมลงภู่ชมดอกไม้ ” บ้าง ชาวบ้านตามแถบนั้นถ้าใครเจ็บป่วยต้องการอยากรู้ข่าวถึงยาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกลว่าเป็นอย่างไร โดยมากมักจะบอกได้เป็นที่ถูกต้อง
            แผ่นหินที่แกะสลักเป็นรูปพระเจ้าองค์เจ้าตื้อแห่งภูพระได้เหลืองอร่ามด้วยแผ่นเปลวที่ผู้คนนำมาปิด ยามลมอ่อนโชยมาเกิดประกายระยิบระยับ อีกทั้งเบื้องหน้าดาด้วยพุ่มบายศรีขนาดเล็ก ที่ชาวบ้านทำมากับมืออย่างง่าย ๆ ด้วยวัสดุที่หาได้ ไม่ว่าจะเป็นใบตองที่นำมาจับพับเป็นรูปเสียงอยู่ด้วยดอกลั่นทมที่เก็บมาจากต้น ซึ่งขึ้นอยู่รอบภูพระ บ้างก็เป็นกระป่องเก่าปักด้วยต้นไม้เงินต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ที่ทำจากกระดาษสา พร้อมผ้าไตรที่นำมากราบกราน เนื่องจากพระเจ้าตื้อเป็นพระต้องมีการบวงสรวงด้วยผ้าไตร
      ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวไว้ว่า  ถ้าต้องการเลิกพิธีผีฟ้ามีธรรมเนียมอยู่ว่า นางเทียมคนนั้นต้องเข้าไปกราบเครื่องสังเวยอาการสิงก็จะหายไปและกลับคืนเป็นปกติ ยามที่นางเทียมเป็นคนปกติ หากเข้าไปถามถึงเหตุการณ์ตอนที่เข้าทรงผีฟ้าเมื่อสักครู่แล้ว แม้นางเทียมจะทบทวนอยู่นานก็นึกไม่ออกว่าได้พูดอะไรไปบ้าง ปกติปีหนึ่งจะมีการนัดมาฟ้อนผีฟ้าที่หน้าพระเจ้าองค์ตื้อกัน 4 ครั้ง คือ ช่วงเดือน 3 เดือน 5 เข้าพรรษาและออกพรรษา แต่ระหว่างวันขึ้น 13 ถึง 15 ค่ำ เดือน 5 หรือ ช่วงสงกรานต์จะมีมามากเป็นพิเศษ

ประเพณีชักพระมีความเป็นมาอย่างไร

Posted By on September 24, 2012

ประเพณีชักพระมีความเป็นมาอย่างไร

ผมนี่จะอายุ 28 เเล้วยังไม่รู้เลยว่าประเพณีชักพระเนี่ยคืออะไร ถ้าได้ยินก็คงคิดว่าเเบกพระอะไรซักอย่างเนี่ยเป็ฯต้น ครับ เเต่ถ้าจะเอาความหมายจริงๆ เนี่ยเเต่งต่างอย่างสิ้นเชิงครับ ลองอ่านกันดูครับ ว่าประเพณีชักพระมีความเป็นอย่างไรลองอ่านกันดูครับพี่น้องประเพณีชักพระ(ลากพระ)
ประเพณีชักพระเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวใต้ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับ วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเชื่อกันว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์  พุทธศาสนิกชนจึงมารอรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธ เจ้าขึ้นประทับบน บุษบกแล้วแห่ไปรอบเมืองประวัติความเป็นมา
ประเพณีชักพระเป็นประเพณีทพราหมณ์ศาสนิกชนและพุทธศาสนิกชนปฏิบัติสืบต่อกันมา  สันนิษฐานว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ที่นิยมเอา เทวรูปออกแห่ในโอกาสต่าง ๆ  ต่อมาพุทธศาสนิกชนได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าวมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา  ประเพณีชักพระเล่ากันเป็นเชิงพุทธตำนาน ว่า หลังจากพระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหารย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี แล้วได้เสร็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา
ซึ่งขณะนั้นทรงจุติเป็นมหามายาเทพ สถิตอยู่ ณ ดุสิตเทพพิภพตลอดพรรษา พระพุทธองค์ทรงประกาศพระคุณของมารดาแก่เทวสมาคมและแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา 7 คัมภีร์ จนพระมหามายาเทพและเทพยดา ในเทวสมาคมบรรลุโสดาบันหมด ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันสุดท้ายของพรรษา พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับมนุษยโลกทางบันได
ทิพย์ที่พระอินทร์นิมิตถวาย บันไดนี้ทอดจากภูเขาสิเนนุราชที่ตั้งสวรรค์ ชั้นดุสิตมายังประตูนครสังกัสสะ ประกอบด้วยบันไดทอง บันไดเงินและบันไดแก้ว บันไดทองนั้นสำหรับเทพยดา มาส่งเสด็จอยู่เบื้องขวาของพระพุทธองค์ บันไดเงินสำหรับพรหมมาส่งเสด็จอยู่เบื้องซ้ายของพระพุทธองค์
และบันไดแก้วสำหรับพระพุทธองค์อยู่ตรงกลาง เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ประตูนครสังกัสสะตอนเช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนที่ทราบกำหนดการเสด็จกลับของพระพุทธองค์จากพระโมคคัลลานได้มารอรับเสด็จ อย่างเนืองแน่นพร้อมกับเตรียมภัตตาหารไปถวายด้วย แต่เนื่องจาก
พุทธศาสนิกชนที่มารอรับเสด็จมีเป็นจำนวนมากจึงไม่สามารถจะเข้าไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทั่วทุกคน จึงจำเป็นที่ต้องเอาภัตตาหารห่อใบไม้ส่งต่อ ๆ กันเข้าไปถวายส่วนคนที่อยู่ไกลออกไปมาก ๆ จะส่งต่อ ๆ กันก็ไม่ทันใจ จึงใช้วิธีห่อภัตตาหารด้วยใบไม้โยนไปบ้าง ปาบ้าง ข้าไปถวายเป็น ที่โกลาหล โดยถือว่าเป็นการ
ถวายที่ตั้งใจด้วยความบริสุทธิ์ด้วยแรงอธิษฐานและอภินิหารแห่งพระพุทธองค์ ภัตตาหารเหล่านั้นไปตกในบาตรของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น เหตุนี้จึงเกิด ประเพณี “ห่อต้ม” “ห่อปัด” ขึ้น เพื่อเป็นการแสดงถึงความปิติยินดีที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชน ได้อัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้ แล้วแห่แหนกันไปยังที่ประทับของพระพุทธองค์ ครั้นเลยพุทธกาลมาแล้วและเมื่อมีพระพุทธรูปขึ้น พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปยกแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์
เรือพระ
เรือพระ คือ รถหรือล้อเลื่อนที่ประดับตกแต่งให้เป็นรูปเรือแล้ววางบุษบก ซึ่งภาษาพื้นเมืองของภาคใต้เรียกว่า “นม” หรือ “นมพระ” ยอดบุษบก เรียกว่า “ยอดนม” ใช้สำหรับอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานแล้วลากในวันออกพรรษา  ลากพระทางน้ำ เรียกว่า “เรือพระน้ำ” ส่วนลากพระทางบก เรียกว่า “เรือพระบก” สมัยก่อนจะทำเป็นรูปเรือ ให้คล้ายเรือจริง ๆ และต้องทำให้มีน้ำหนักน้อยที่สุด จึงใช้ไม้ไผ่สานมาตกแต่งส่วนที่เป็นแคมเรือและหัวท้ายเรือคงทำให้แน่นหนา ทางด้านหัวและท้ายทำงอนคล้ายหัวและท้ายเรือ
  แล้วตกแต่งเป็นรูปพญานาค ใช้กระดาษสีเงินสีทองทำเป็นเกล็ดนาค กลางลำตัวพญานาคทำเป็นร้านสูงราว 1.50 เมตร เรียกว่า “ร้านม้า”  ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ บุษบก ซึ่งแต่ละที่จะมีเทคนิคการออกแบบบุษบก  มีการประดิษประดอยอย่างมาก หลังคาบุษบกนิยมทำเป็นรูปจตุรมุข  ตกแต่งด้วยหางหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา และทุกครอบครัวต้องเตรียม “แทงต้ม” เตรียมหาในกระพ้อ และข้าวสารข้าวเหนียวเพื่อนำไปทำขนมต้ม “แขวนเรือพระ”
การอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนบุษบก
พระลาก คือ พระพุทธรูปยืน แต่ที่นิยม คือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 พุทธบริษัทจะสรงน้ำพระและเปลี่ยนจีวร แล้วอัญเชิญขึ้นบนบุษบก แล้วพระสงฆ์จะ เทศนา เรื่อง การเสด็จไปดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า  ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ในตอนเช้ามืด ชาวบ้านจะมาตักบาตรหน้านมพระ เรียกว่า “ตักบาตรหน้าล้อ” แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน บนนมพระ
ลากพระบก
ใช้เชือกแบ่งผูกเป็น 2 สาย เป็นสายผู้หญิงและสายผู้ชาย  ใช้โพน ฆ้อง ระฆัง เป็นเครื่องตีให้จังหวะในการลากพระ  คนลากจะเบียดเสียดกันสนุกสนานและประสาน เสียงร้องบทลากพระเพื่อผ่อนแรง  ตัวอย่างบทร้องที่ใช้ลากพระ คือ  อี้สาระพา เฮโล เฮโล ไอ้ไหรกลมกลม หัวนมสาวสาว ไอ้ไหรยาวยาว สาวสาวชอบใจ
ลากพระน้ำ
      การลากพระทางน้ำจะสนุกกว่าการลากพระทางบก เพราะสภาพการเอื้ออำนวยต่อกิจกรรมอื่น ๆ เช่น สะดวกในการลากพระ  ง่ายแก่การรวมกลุ่มกันจัดเรือพาย แหล่งลากพระน้ำที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่ง คือ ที่อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร อำเภอพุนพินและ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช รองลงมาอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะอำเภอหลังสวนและที่บ้านแหลมโพธิ์ อำเภอหาดใหญ่ จะมีการเล่นเพลงเรือ ที่ขึ้นชื่อ ส่วนที่อำเภอปากพนังมีการเล่น “ซัดหลุม” (ซัดโคลน) กันสนุกสนานเพราะที่ปากพนังมีโคลนตมมาก การลากพระทางน้ำของเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แปลกกว่าที่อื่น คือ จะลากกัน 3 วัน ระหว่างแรม 8 ค่ำถึงแรม 10 ค่ำ เดือน 11 มีการปาสาหร่ายโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาว มีการเล่นเพลงเรือ และที่แปลกพิเศษ คือ มีการทอดผ้าป่าสามัคคีในวันเริ่มงาน
Free Web Hosting