ประเพณีการเทศน์มหาชาติ

Posted By on September 24, 2012

ประเพณีการเทศน์มหาชาติ

ประเพณีการเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีทางศาสนาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน นับเนื่องขึ้นไปถึงก่อนสมัยสุโขทัย  เหตุที่ประเพณีเทศน์มหาชาติแพร่หลายและดำรงอยู่ในสังคมไทยก็เพราะความเชื่อที่ว่าการฟังเทศน์มหาชาติให้ครบ ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวจะทำให้ได้อานิสงส์ไปเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย  ซึ่งชาวพุทธส่วนใหญ่จะมีความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาของพระสมณโคดมจะถึงกาลเสื่อมสูญเมื่อมีอายุครบ ๕,๐๐๐ ปี  หลังจากนั้นพระศรีอาริยเมตไตรยจะมาอุบัติในโลก

ประเพณีเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีสำคัญทั้งประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ ในด้านประเพณีหลวงนั้นจะถือว่าเป็นพระราชพิธีใหญ่ของราชสำนัก  พระมหากษัตริย์จะทรงอุปถัมภ์และดูแลการเทศน์มหาชาติ  โดยจัดให้มีการเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง  มีวรรณคดีที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการเทศน์มหาชาติโดยเฉพาะ  เช่นเดียวกับชาวบ้านก็จะมีมหาชาติฉบับท้องถิ่นต่าง ๆเป็นของตนเอง  ทำให้การเทศน์มหาชาติของแต่ละท้องถิ่นได้ผสานความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นเข้ามาด้วย  อย่างไรก็ตามลักษณะร่วมกันของประเพณีเทศน์มหาชาติของท้องถิ่นต่าง ๆ ก็คือการเชื่อในเรื่องอานิสงส์ของการเทศน์มหาชาติ

การเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีของชุมชน  ซึ่งต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจและศรัทธาของชุมชนเป็นหลัก  เมื่อทางวัดดำริจะจัดงานเทศน์มหาชาติจึงจำเป็นต้องปรึกษาหารือกับคณะศรัทธาของวัด  เมื่อเห็นพ้องต้องกันจึงจัดหาผู้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ  บางแห่งก็ร่วมมือกันหลายคนเป็นเจ้าภาพกัณฑ์ใดกัณฑ์หนึ่ง  ดังนั้นการเทศน์มหาชาติในชุมชนต่างๆ  จึงแสดงให้เห็นถึงความสามัคคี  ความยินดีปรีดาที่จะได้รื่นเริงร่วมกัน  การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพราะเป็นการรวมญาติพี่น้อง และสร้างความปรองดองระหว่างกัน  ตลอดจนเป็นการสร้างกุศลร่วมกันเพื่อเป็นเนื้อนาบุญสืบต่อมายังลูกหลาน

ปัจจุบันการเทศน์มหาชาติได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก  แม้ว่าจะคงมีการจัดงานเทศน์มหาชาติอยู่อย่างต่อเนื่องก็ตาม  ท้องถิ่นบางแห่งได้จัดงานเทศน์มหาชาติจนกลายเป็นงานสำคัญของจังหวัด เช่น จังหวัดร้อยเอ็ดกับจังหวัดเลย ที่มีการจัดงานเทศน์มหาชาติอย่างใหญ่โตจนกลายเป็นงานท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับชาติ  ผู้ที่ทำหน้าที่จัดงานจึงเป็นหน่วยงานราชการต่าง ๆที่ร่วมมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้ขาดลักษณะของการทำบุญของ “คณะศรัทธา” ในท้องถิ่น และทำให้การเทศน์มหาชาติ ถูกประยุกต์เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหลือเค้าของประเพณีดั้งเดิม นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ ก็เป็นเจ้าภาพจัดงานเทศน์มหาชาติ ทำให้สถานที่จัดงานเปลี่ยนจากวัดมาเป็นสถานที่ของหน่วยงานเพื่อความเป็นสิริมงคลของหน่วยงานนั้นๆ อย่างไรก็ตาม แม้การเทศน์มหาชาติในปัจจุบันจะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ก็แสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนิกชนยังยึดมั่นอยู่กับหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา และดำรงไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามของไทยให้อยู่คู่สังคมไทยตลอดไป

เรียบเรียงโดย : อาจารย์ฐนธัช  กองทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

About the author

Comments

Leave a Reply

Free Web Hosting