การอโหสิกรรมเป็นทานขั้นสูงสุด

Posted By on November 23, 2012

การอโหสิกรรมเป็นทานขั้นสูงสุด

ในบรรดาการให้ทานนั้น ถ้าจัดลำดับผลจากการให้จากน้อยไปมากแล้ว มีลำดับตามนี้

วัตถุทาน ได้บุญน้อยที่สุด
วิหารทาน
ธรรมทาย
อภัยทาน ได้บุญมากที่สุด

 


ความทุกข์สุขในปัจจุบันที่พวกเราประสบอยู่เกิดจากเหตุหลายอย่าง มิได้เกิดจากกรรมแต่ประการเดียว แต่ถ้าเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด พวกเราย่อมผ่านการตายเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน หลวงตาบัวท่านกล่าวว่า ถ้าเขียนบันทึกกรรมลงไปในหน้ากระดาษ จะพบว่าเมื่อนำหน้ากระดาษนั้นมาอ่าน จะอ่านตัวหนังสือที่บันทึกไว้ไม่ออกหรอก เพราะตัวหนังสือที่เขียนบันทึกแต่ละครั้งจะเขียนทับกันแน่นจนเป็นสีดำพืดไปหมด ดังนั้นพวกเราทุกคนต่างเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครต่อใครมามากมาย สะสมกรรมกันไว้นับภพนับชาติไม่ถ้วน หากยอมอโหสิกรรมให้แก่กันได้ ย่อมเกิดผลมหาศาล เหนือกว่าการให้วัตถุทานและวิหารทานที่ทำไว้ในชาตินี้เพียงชาติเดียว เป็นการให้ที่ส่งผลต่อตัวผู้ให้เอง และยังทำให้ผู้อื่นพ้นบ่วงกรรมที่จะต้องสืบต่อกันไปกลับไปกลับมาจนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เริ่มกรรมนั้นก่อน ซึ่งการให้อภัยทานเป็นการให้โอกาสที่ทำให้พ้นจากบ่วงกรรมนี้เองจึงถือเป็นการให้ทานอย่างสูง

ผมเชื่อว่าเราทั้งหลายเมื่อเกิดมาแล้ว จะต้องเกิดในครอบครัวใดหรือไปทำงานหรือร่วมสังคมกับใคร ย่อมเกิดจากแรงจากผลกรรมในอดีตมิใช่น้อย หากเคยเป็นเจ้าหนี้เมื่อชาติก่อนแล้วยังแค้นใจอยากได้คืน ชาตินี้ก็เกิดมาเพื่อทวงหนี้กันอีก ยิ่งทุกวันนี้พวกเราใช้เวลาที่ทำงานกันมาก ใช้เวลาและทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับที่ทำงานจนมากกว่าให้กับครอบครัวเสียด้วยซ้ำ กรรมในที่ทำงานจึงน่าจะแรงกว่ากรรมอื่น

ผมขอยกธรรมคำสอนที่เกี่ยวข้องกับการอภัยทานหรือการอโหสิกรรมมาให้ศึกษากัน

การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

อภัยทาน คืออย่างไร ?

อภัยทาน ก็คือการยกโทษให้
คือการไม่ถือความผิดหรือการล่วงเกินกระทบกระทั่งว่าเป็นโทษ

อภัยทานนี้เป็นคุณแก่ผู้ให้ ยิ่งกว่าแก่ผู้รับ เช่นเดียวกับทานทั้งหลายเหมือนกัน คืออภัยทานหรือการให้อภัยนี้ เมื่อเกิดขึ้นในใจผู้ใด จะยังจิตใจของผู้นั้นให้ผ่องใสพ้นจากการกลุ้มรุมบดบังของโทสะ

อันใจที่แจ่มใส กับใจที่มืดมัว ไม่อธิบายก็น่าจะทราบกันอยู่ทุกคนว่าใจแบบไหนที่ยังความสุขให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของ ใจแบบไหนที่ยังความทุกข์ให้เกิดขึ้น และใจแบบไหนที่เป็นที่ต้องการ ใจแบบไหนที่ไม่เป็นที่ต้องการเลย

ความจริงนั้น ทุกคนที่สนใจบริหารจิต จะต้องสนใจอบรมจิตให้รู้จักอภัยในความผิดทั้งปวง ไม่ว่าผู้ใดจะทำแก่ตน แม้การให้อภัยจะเป็นการทำได้ไม่ง่ายนัก สำหรับบางคนที่ไม่เคยอบรมมาก่อน แต่ก็สามารถจะทำได้ด้วยการอบรมไปทีละเล็กละน้อย เริ่มแต่ที่ไม่ต้องฝืนใจมากนักไปก่อนในระยะแรก

ตัวอย่างเช่น เวลาขึ้นรถประจำทางที่มีผู้โดยสารคอยขึ้รถอยู่เป็นจำนวนมาก หากจะมีผู้เบียดแย่งขึ้นหน้า ทั้งๆ ที่ยืนอยู่ข้างหลัง ถ้าเกิดโกรธขึ้นมาไม่ว่าน้อยหรือมาก ก็ให้ถือเป็นโอกาสอบรมจิตใจให้รู้จักอภัยให้เขาเสีย เพราะเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรถือโกรธกันหนักหนา เป็นเรื่องเล็กน้อยเหลือเกินควรจะอภัยให้กันได้ แต่บางที่ไม่ตั้งใจคิดเอาไว้ก็จะไม่ทันให้อภัยจะเป็นเพียงโกรธแล้วจะหายโกรธไปเอง

โกรธแล้วหายโกรธเอง กับโกรธแล้วหายโกรธเพราะให้อภัย ไม่เหมือนกัน โกรธแล้วหายโกรธเองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งเมื่อเกิดแล้วต้องดับ ไม่เป็นการบริหารจิตแต่อย่างใด แต่โกรธแล้วหายโกรธเพราะคิดให้อภัย เป็นการบริหารจิตโดยตรง จะเป็นการยกระดับของจิตให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีค่าขึ้น

ผู้ดูแลเห็นความสำคัญของจิต จึงควรมีสติทำความเพียรอบรมจิตให้คุ้นเคยต่อการให้อภัยไว้เสมอ เมื่อเกิดโทสะขึ้นในผู้ใดเพราะการปฏิบัติล้วงล้ำก้ำเกินเพียงใดก็ตาม พยายามมีสติพิจารณาหาทางให้อภัยทานเกิดขึ้นในใจให้ได้ ก่อนที่ความโกรธจะดับไปเสียเองก่อน

ทำได้เช่นนี้จะเป็นคุณแก่ตนเองมากมายนัก ไม่เพียงแต่จะทำให้มีโทสะลดน้อยลงเท่านั้น และเมื่อปล่อยให้ความโกรธดับไปเอง ก็มักหาดับไปหมดสิ้นไม่ เถ้าถ่านคือความผูกโกรธมักจะยังเหลืออยู่ และอาจกระพือความโกรธขึ้นอีกในจิตใจได้ในโอกาสต่อไป

ผู้อบรมจิตให้คุ้นเคยอยู่เสมอกับการให้อภัย แม้จะไม่ได้รับการขอขมา ก็ย่อมอภัยให้ได้ ในทางตรงกันข้าม ผู้ไม่เคยอบรมจิตใจให้คุ้นเคยกับการให้อภัยเลย โกรธแล้วก็ให้หายเอง แม้ได้รับการขอขมาโทษ ก็อาจจะไม่อภัยให้ได้ เป็นเรื่องของการไม่ฝึกใจให้เคยชิน

อันใจนั้นฝึกได้ ไม่ใช่ฝึกไม่ได้ ฝึกอย่างไดก็จะเป็นอย่างนั้น ฝึกให้ดีก็จะดี ฝึกให้ร้ายก็จะร้าย

ที่มา http://www.excelexperttraining.com/blogs/archives/z000857.php

About the author

Comments

Leave a Reply

Free Web Hosting