บาปกรรมจากการฆ่าคนตาย ไม่มีการทำบุญทดเเทนใดๆทั้งสิ้น

Posted By on September 30, 2012

บาปกรรมจากการฆ่าคนตาย ไม่มีการทำบุญทดเเทนใดๆทั้งสิ้น

ทัศนะจาก อาจารย์โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ)
จาก หนังสือเรื่อง ชีวิตจริงของคนรับจ้างฆ่า (มือปืน)
โดย อรสม สุทธิสาคร
พักร้อนหลายวัน ประกอบกับร่างกายเจ็บป่วย ก็เลยมีโอกาสได้อ่านหนังสือ
ไปอ่านพบบทความที่น่าสนใจ จึงขอนำมาฝากทุกคนค่ะ

“การเข้าสู่ธรรมชาติของมนุษย์นั้น ต้องยืมสายพระเนตของพระพุทธเจ้า มีพระสูตรพูดถึงฐานะและอฐานะ
ความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้ ในหมวดธรรมที่ว่าด้วยความเป็นไปได้นั้น ท่านอธิบายว่า มนุษย์ปุถุชนทุกคนเป็นไปได้ที่จะปลงชีวิตพ่อแม่หรือพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ได้ คือคนธรรมดาทุกคน โอกาสที่จะทำอย่างนั้นมี แต่สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้สำหรับพระโสดาบันผู้บรรลุกระแสธรรมแล้ว ข้อนี้ผมเข้าใจว่าจะนำไปสู่ความเข้าใจและเห็นใจบุคคลที่เรามักจะมองหรือตัดสินเขาเป็นฆาตกรโดยกำเนิดหรือมีสันดานเป็นฆาตกร คนธรรมดาทั่วไปที่เรียกว่ากัลยาณชนหรือคนดีนั้น โอกาสที่ฆ่าพ่อแม่ก็มี ถ้ามีความบีบคั้นหรือลืมสติอย่างรุนแรง แม้พระโพธิสัตว์ในเรื่องชาดก เมื่อแม่ขัดขวางการปฏิบัติธรรมถึงกับทำร้ายร่างการแม่”
“คนร้ายหรือฆาตกรน่าจะไดัรับการดูแลเพื่อปรับกระบวนทัศน์ด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด มีสิ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญมากก็คือการเคารพชีวิต ไม่ได้หมายถึงการเคารพชีวิตของคนดี คนที่ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น”
“ดูตัวอย่างจากพระไตรปิฎกบ้าง เรื่องของการลงทัณฑ์ คราวหนึ่งมีการถกประเด็นในเรื่องของทัณฑะสาม คือการลงทัณฑ์ในสามทวาร กายทัณฑะ วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ ถกกันว่าอันไหนมีผลร้ายแรงกว่ากัน ระหว่างกายกรรม มโนกรรม และวจีกรรม คือเรื่องหลักกรรมในพุทธศาสนานั่นเอง ศาสดาฝ่ายไชนะ ก็บอกว่ากายทัณฑะแรงกว่า อย่างเราคิดจะฆ่าเขา เป็นมโนกรรม แต่เราก็ไม่ได้ฆ่าเขาสักหน่อย เราด่าเขาเป็นวจีกรรม ก็ยังน้อยกว่าตี ดังนั้นการทัณฑะคือการลงทัณฑ์ทางกายซึ่งแรงกว่า ดังนั้นโทษย่อมแรงตาม ก็ดูจะเข้ากับสามัญสำนึกของคนส่วนใหญ่ แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้คิดอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มโนกรรมแรงกว่า การคิดร้ายส่งผลรุนแรงต่อชีวิตมากกว่า ฟังดูอาจไม่ค่อยเข้าเหตุเข้าผลสักเท่าไร เพราะน้ำหนักดูน้อยมาก จนกระทั่งพระพุทธเจ้าท่านต้องยกอุปมา อุปมัยว่า สมมุติมีชายคนหนึ่งเป็นนักโทษฆ่าคน เจ้าหน้าที่บ้านเมืองตามจับไปลงโทษแต่นักโทษคนนั้นไปล้มตายเอง พระพุทธเจ้าทรงถามว่า แล้วเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องตามจับร่างกายของเขาที่ตายแล้วไปขังหรือปล่าว ถ้ายืนยันว่ากายทัณฑะสำคัญกว่าก็ต้องจับไปขังอีก แต่ในความเป็นจริงคือเราไม่ขังคนที่ตายแล้วอีก ท่านก็สรุปว่า ในบรรดากรรมทั้งสามทวารนั้น มโนกรรมแรงกว่าหากปราศการการดำริร้ายแล้ว การทำร้ายจะไม่มี การด่าว่าจะไม่มี การฆ่ากันทำร้ายกันจะไม่มี ทุกอย่างมันเริ่มที่จิตก่อน”

“ถ้าเรามองในแง่นี้ เรามาสู่บทสรุปที่ว่า จิตฝึกให้เข้าสู่ขบวนการอหิงสาได้ ผู้ที่เข้าใจว่าจิตฝึก
ไม่ได้ เนื่องจากยึดถือเรื่องกรรมเก่าผิด ๆ ว่า คนอย่างนี้หรือคนคนนี่ไม่มีทางสั่งสอนได้ เป็นความยึดติดในความรู้สึกส่วนตัวเกินไป การให้อภัยคนนี่เราสามารถทำได้อย่างถึงที่ แต่สำหรับบางคนอาจไม่ยอมให้อภัย ที่จริงสังคมไทยเรามีประสบการณ์ในเรื่องการกล่อมเกลาชีวิตของนักโทษ การให้บทเรียน ข้อคิด เช่น นิมนต์พระไปเทศนาก่อนการประหาร เป็นต้น  แต่ส่วนใหญ่การเทศนานั้นมักเป็นเรื่องปลอบใจมากว่า”
“ที่จริงการฆ่าคน ในขณะที่ฆ่า จิตหวั่นไหวทั้งนั้น สำหรับชาวพุทธแล้ว การฆ่าไม่ว่ารูปแบบใด ๆ ไม่พึงปรารถนาทั้งสิ้น นอกเหนือจากไม่ฆ่าแล้ว เรายังต้องเมตตาต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ ต่อสัตว์ด้วย นอกจากไม่ขโมยแล้ว เรายังต้องบริจาคทาน นอกจากไม่ผิดลูกเมียเขาอื่นแล้ว สำหรับคนที่เคร่งครัดยังต้องรักษาพรหมจรรย์ นอกจากไม่พูดเท็จต้องกล่าวคำสัตย์จริงด้วย นอกจากไม่เสพของมึนเมาพร่าสติตนเองแล้ว เรายังต้องเจริญสติแล้ว มองในแง่ทฤษฎี เรามีหลัก ทีนี้ในแง่ปฏิบัติ ภาวะจำยอม ภาวะจำเป็นมันมี ดังนั้นจะหาคนดีที่ปฏิบัติศีลทุกข้อ หายาก พระวินัยไม่ใช่กรอบหรือคอก แต่พระวินัยหรือระเบียบเหล่านั้นเป็นเหมือนรั้วสะพาน ถ้าคนแข็งแรงจริง ๆ ไม่ต้องพึ่งสะพานก็ได้ เขาเดินข้ามแผ่นไม้แผ่นเดียวก็ได้ แต่คนทั่วไปอ่อนแอ ผมเชื่ออย่างนั้นนะ ดังนั้นเราจึงต้องพึ่งราวสะพาน เพื่อเกาะเพื่อไต่ต่อไป แต่ถ้าใครเข้าใจผิดต่อราวสะพาน ยึดราวสะพานแล้วไม่เดินก็เป็นปัญหาอันใหม่ คือพวกยึดมั่นถือมั่นพระวินัย ก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาปัญญาได้”

“การฆ่าไม่ว่ารูปแบบใด ๆ ถือเป้นบาปทั้งสิ้น ส่วนการปฏิบัติผมได้บอกแล้วว่ามนุษย์มีข้อปฏิบัติอยู่ไม่น้อย ชาวบ้านเขาฆ่าปลาก็จริงแต่ฆ่าเพื่อกิน เพื่อให้อยู่รอด ไม่ได้มีจิตจะฆ่าเพื่อเบียดเบียนสัตว์ ดังนั้น สิ่งที่เขาตอบแทนสิ่งที่ล่วงลับไปเพื่อให้มีชีวิตอยู่ คือการนับถือหรือบูชา เช่น ชาวอินเดียนแดงเชาฆ่าฝูงไบซัน เพราะฝูงไบซันคือผ้าห่มของเขา เขาก็บวงสรวงวิญญานให้  ถือว่าวิญญาณของสัตว์สูงกว่าวิญญานของมนุษย์ วิญญานมนุษย์อยู่ได้เพราะวิญญานสัตว์ แต่การที่คนหนึ่งทำบาป จ้างวานฆ่า ฆ่า หรือเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น แล้วไปทำบุญชดเชย เราต้องแยกส่วน คือบาปต้องมีผลเป็นบาป ทำบาปก็ย่อมได้รับผลบาป ทำบุญได้รับผลบุญ เอามาชดเชยกันไม่ได้ แต่ว่าการทำบุญเป็นสิ่งที่ควรทำ แทนที่จะทำบาปถ่ายเดียว พระพุทธเจ้าตรัสว่า บาปนั้นไม่ควรทำบ่อย ๆ คือ ถ้าทำแล้วรู้ตัวว่ามันส่งผลไม่ดี มันเกิดผลสะเทือนจริง ๆ แล้วไม่ต้องถามใครหรอกครับ จิตเราทำงานอยู่ พอเราไปทำอะไรจิตมันก็รู้อยู่ เรารู้ก่อนเพื่อน”
“การที่มือปืนทำบาปแล้วไปทำบุญ เขาจะได้ผลหรือไม่ การที่เขาทำบาป เขาได้รับบาปทั้งในขณะนั้นและในขณะอื่นถัดมา เช่น ญาติพี่น้องของคนที่เราทำกรรมเยาก็โกรธแค้นให้ หรือประชาชนหมิ่นน้ำใจหรือหลู่เกียรติ ไม่คบหา ทุรนทุรายในใจนั้นเป็นวิบากโดยตรงเลย จิตกระสับกระส่าย ไม่ตั้งมั่น หวั่นไหวง่าย เช่นเราทำบาปหรือทำผิดหรือแม้แต่คิดว่าผิด เราหวั่นไหว ขึ้นชื่อว่าปุถุชนมีเครื่งวัดอันหนึ่งคือสงสัยในการกระทำของตน ต่างว่าคนนั้นหลังจากทำบาป รู้สึกได้แล้วต่อทุกข์โทษของมัน แต่ที่จริงก็รู้สึกยังไม่ครบถ้วนหรอกครับ เพราะยังทำได้อีก เช่น บางคนฆ่าคนแล้วสำนึก แต่รุ่งขึ้นก็พร้อมจะฆ่าอีก เพราะเอาชนะจิตสำนึกไม่ได้ แสดงว่าจิตของเขายังสมาทานมิจฉาทิฐิ”
“เราจะอ้างว่าเราทำดีชดเชยความชั่วไม่ได้หรอกครับ เพราะต่างกรรมต่างวาระ หมายความว่าชั่วก็ต้องรับผลชั่ว แต่ถ้ารีบทำความดีเผื่อไว้บ้าง ก็พอจะได้รับผลดี ผลชั่วก็จะกินเวลาสั้นหน่อย แต่ชดเชยกันไม่ได้ แต่สามารถแทนที่ได้ แทนที่หมายความว่า ถ้าทำดีเรื่อย ๆ โอกาสทำชั่วก็จะน้อยลง แต่ถ้าทำชั่วมาก ๆ  โอกาสทำดีก็น้อยลง”
“พระพุทธเจ้าให้คำนิยามของอกุศลกรรมและกุศลกรรมไว้ว่า กรรมใดทำแล้วเดือดร้อยภายหลัง กรรมนั้นไม่ดี เดือดร้อนนี้หมายถึงเดือดร้อนตนเอง เดือดร้อนคนอื่นในขณะที่ทำ ภายหลังก็ต้องเดือดร้อนอีก ในทางกลับกัน กรรมใดทำแล้วตัวเองไม่เดือดร้อน คนอื่นไม่เดือดร้อน ต่อมาภายหลังก็ไม่เดือดร้อน กรรมนั้นพึงทำ คือกุศลกรรม แต่ทั้งกุศลกรรม อกุศลกรรม เป็นธรรมชาติธรรมดา คนทำบาปเขาก็สับสน เขาคิดผิดไม่ใช่เพราะเขาชั่วแต่กำเนิดหรอก
“ปัญหาด้านหนึ่งต้องแก้โดยระบบ ต้องยืนพื้นอยู่บนระบบคิด เคารพต่อมนุษย์ มนุษยธรรม ความเคารพมนุษย์เกิดไม่ได้ด้วยทฤษฎีหรอกครับ ดูวันพระพุทธเจ้าออกบวชนะครับ การที่ท่านออกบวชนั้นคือการที่ท่านเบื่อและค้นพบความเหลวแหลกของอำนาจราชศักดิ์ต่าง ๆ ตัดสินใจไปเดินดิน ออกมาเป็นนักพรตเร่ร่อน แสดงว่าท่านยอมรับคนธรรมดาว่าทัดเทียมกับท่านแล้ว การออกมหาภิเนษกรมณ์นั้นคือการกลับเข้าสู่ฐานของความเป็นมนุษย์จริง ๆ เลย อำนาจราชศักดิ์เป็นเรื่องสมมุติ เป็นเรื่องอุปโลกน์กันขึ้น”
“ถ้าระบบมีความเป็นธรรมหรือเอื้ออาทร คงไม่มีใครอยากเป็นฆาตกร เป็นมือปืน”
“ทีนี้ถ้าพูดถึงผลสืบเนื่องมาจากเหตุ เช่นมือปืนที่ฆ่าคนแล้วต้องรับโทษ เราจะมีบทปลอบใจให้กำลังใจให้เขากลับตัวได้อย่างไร ผมอยากบอกว่าออกมาจากคุกแล้วก็อย่าคิดรวยเลย  ผมนึกถึงคำของมหาตมะคานธีที่ว่า ยากจนโดยสมัครใจ ถ้ายากจนโดยไม่สมัครใจนี่ทุกข์ทรมานนะ ผมอยากจะพูดว่า ชีวิตไม่ได้สำเร็จเพราะเงินทอง จริง ๆ แล้วชีวิตเราสำเร็จเพราะข้าวน้ำ เราไม่ได้ต้องการข้าวน้ำ อาหารมากเลย เพียงเราเห็นความจริงอันนี้ตรง ๆ เรานุ่งกางเกงวันละตัว ใส่เสื้อวันละตัว เรากินข้าววันละสองสามมื้อ แล้วเรากินทีละคำ ไม่ได้กินทีละ 5 คำ 10 คำ ชีวิตดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องภายใต้กระแสกระบวนการธรรมชาติ การหายใจเข้า หายใจออก และเรามีโชคชะตาร่วมกันด้วย แล้วช่วงชีวิตที่เนิบช้า สอดคล้องเป็นจังหวะจะโคนนี่เอง คือความหมายของมัน การที่เราวิ่งเริดตลอดเวลานั้นไม่ได้มีความหมายอะไรครับ การที่เราหวังจะมีเงินทองมากนั้นเป็นการวิ่งเริ่ดเตลิดเปิดเปิงไปตามความทะเยอทะยาน ขึ้นชื่อว่าความทะเยอทะยานแล้วจะสร้างขั้วต่างและแรงเหวี่ยง ความขัดแย้งในใจเรา แรงทะยานในภพชาติที่ทำให้เราเป็นทุกข์ พุทธศาสนามองว่ามีแรงชนิดหนึ่งในตัวมนุษย์ ทะเยอทะยานที่จะเป็นโน่นเป็นนี่ ที่จะเสวยนั่นเสวยนี่ นี่คือแรงทะยานในภพชาติซึ่งทำให้เกิดแล้วเกิดอีก ถ้ามองไปสู่หลายวงจรชีวิตก็เรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้ามองในแง่ของการเกิดชั่วขณะ เหมือนที่ท่านพุทธทาสพูด เดี๋ยวเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เดี๋ยวเกิดเป็นเปรตบ้าง เดี๋ยวเกิดเป็นอสุรกายบ้าง ในชั่วขณะจิต จิตเราจะเข้าสู่อันใดอันหนึ่งเสมอไป มันเหนื่อยครับ ”

“ผมคิดว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ประเสริฐสุดแล้ว คือความสันโดษเป็นสุข แต่เราฟังไม่เข้าหูเอง เรากลับคิดกันว่าเงินคือความสุข เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ผมจำได้ว่าผู้ใหญ่สมัยก่อนมักให้พรว่า อยู่เย็นเป็นสุขนะลูกนะ เดี๋ยวนี้เขาให้พรกันว่าขอให้รวย ๆ นะ เราสูญเสียหลักในการดำเนินชีวิตที่แสนประเสริฐ ชีวิตไม่ได้ประเสริฐเพราะร่ำรวย ชีวิตที่ประเสริฐต้องมีความอิ่มในตัว ไม่อาจไปประกวดประขันกับใครได้”

ที่มา http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/000787.htm

About the author

Comments

Leave a Reply

Free Web Hosting