วิธีการเเต่งหน้าศพ

Posted By on September 23, 2012

วิธีการเเต่งหน้าศพ

เบื้องหลังความตายอาจเป็นมุมมองที่ไม่มีใครอยากสัมผัส แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่คอยแต่งแต้มสีสันลดความเศร้าหมองแห่งการสูญเสีย พวกเขาทำงานกับศพอย่างไร มีเทรนด์การแต่งหน้าหรือไม่ ต้องติดตาม…

สุภาพร เอี่ยมวงศ์ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล ดูแลงานภายในห้องไอซียูมาร่วม 13 ปี เล่าถึงการทำงานด้วยความรักและภูมิใจที่ได้บริการ ดูแลคนไข้จนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต

“ตอนมีชีวิตอยู่เราก็ดูแลเขาเป็นอย่างดี เมื่อคนไข้เสียชีวิตสิ่งสุดท้ายที่เราสามารถทำให้เขาได้คือการทำศพ ให้อยู่ในสภาพสวยงามที่สุดในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยเฉพาะการแต่งหน้าผู้เสียชีวิตจากที่หน้าซีดเซียว ให้ดูมีน้ำมีนวล มีสีสันเป็นธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งตรงนี้ต้องขออนุญาตญาติก่อนว่าอยากให้เราทำให้ไหม” ด้วยความเชื่อโบร่ำโบราณของคนไทยว่า จิตวิญญาณมีจริง ดังนั้นหากเสียชีวิตก็ควรให้สวมเสื้อผ้าสวยๆ แต่งตัวแต่งหน้าดูดีตอนจากไป

สุภาพรบอกว่า การแต่งหน้าให้ผู้เสียชีวิตแล้วก็เหมือนกับการแต่งหน้าคนทั่วไป แต่ต้องทำภายในเวลา 2 ชั่วโมงหลังจากที่เสียชีวิตแล้ว โดยจะเน้นสีที่เป็นธรรมชาติ เรียบๆ สำรวม ดูแล้วเหมือนเป็นคนนอนหลับ สำหรับโทนสีในการแต่งหน้านั้น ขึ้นอยู่กับวัยและสีผิวของผู้เสียชีวิตด้วย กล่าวคือหากเป็นคนผิวขาวหรืออายุยังน้อยจะเลือกใช้เครื่องสำอางสีชมพู หากเป็นคนผิวคล้ำหรือผิวสองสีจะเลือกใช้โทนสีส้มหรือสีน้ำตาล หรือหากเป็นผู้ชายการแต่งหน้าอาจมีเพียงการรองพื้นไม่ให้ผิวซีด ทาแป้ง และทาลิปมันหรือวาสลีนเท่านั้น “เคยมีอยู่เคสหนึ่งที่อื่นเขาแต่งมาแบบตาสีเขียว ปากแดงแจ๊ด ญาติไม่พอใจ

เขาเลยอยากให้เราช่วยแก้ แต่เราไม่ได้รับทำงานนี้ คือเราดูแลคนไข้ที่โรงพยาบาลเมื่อเสียเราก็ช่วยแต่งให้ฟรีๆ ไม่ได้คิดเพิ่ม ไม่ใช่นโยบายของที่นี่ แต่เราเต็มใจทำให้ ซึ่งนอกจากเรื่องความเชื่อแล้ว งานศพของไทยยังมีการรดน้ำศพ การแต่งหน้าจึงมีบทบาทมากขึ้น และมีมานานแล้วนะ เริ่มแรกสมัยก่อนจะมีแต่ตามโรงพยาบาลเอกชน แต่เดี๋ยวนี้ที่ไหนก็ต้องมี”

รวมทั้งยังมีธุรกิจการรับจ้างแต่งหน้าแบบฟรีแลนซ์ของบุคคลทั่วไปเกิดขึ้นด้วย อาจยังไม่เป็นที่แพร่หลายเหมือนในเมืองนอก แต่เธอได้ยินมาว่าได้ราคาสูงทีเดียว

กว่าศพจะสวย สำหรับขั้นตอนการทำศพเบื้องต้น อย่างแรกที่ทำคือ “การอาบน้ำ” เป็นการอาบน้ำ ฟอกสบู่ สระผม เช็ดตัว เป่าผมให้แห้งด้วยไดร์ บนเตียงที่คนไข้เสียชีวิต จากนั้นจะให้ญาติเลือกเครื่องแต่งกายของผู้เสียชีวิตมา อาจเป็นชุดสวยที่สุดหรือชุดโปรดของผู้ตาย หากเป็นครอบครัวเชื้อสายจีน อาจมีการสวมชุดทับกันตั้งแต่ 3-7 ชั้นตามธรรมเนียมจีน

การสวมชุดอาจมีอุปสรรคบ้าง ในกรณีผู้ตายมีอาการตัวบวมจากโรคที่เป็นอยู่ก่อนเสียชีวิต หรือในกรณีคนไข้สมองตายนานแล้วแต่อยู่ได้ด้วยยา เมื่อหยุดให้ยาร่างจะแข็งเร็วทำให้สวมใส่เสื้อผ้าลำบาก เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดเลยก็ว่าได้

ขั้นตอนต่อไปคือ “การแพ็กศพ” หมายถึงการใช้สำลีแห้งปิดช่องทวารทั้ง 5 ปาก จมูก หู ทวารหนัก ช่องคลอด ก่อนใส่เสื้อผ้าใหม่และเริ่มขั้นตอน “การแต่งหน้า” เริ่มตั้งแต่การหวีผมรวบไว้ให้เรียบร้อย จากนั้นต้องทาครีมรองพื้น เกลี่ยให้เสมอกันแล้วทาแป้งให้ผิวหน้าเนียน แล้วจึงทาตา ปัดแก้ม ทาปาก ต่อไป เบ็ดเสร็จขั้นตอนนี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

เมื่อเหลียวดูบรรดาเครื่องสำอางที่ใช้มาร่วม 100 ศพแล้ว สาวๆ หลายคนอาจตะลึงด้วยยี่ห้อของเครื่องสำอางที่บริจาคเข้ามามีทั้งที่หมดอายุแล้วและยังไม่หมดอายุ ภายในกล่องส่วนใหญ่เป็นแบรนด์เนมต่างประเทศ ตั้งแต่ลอรีออล เอสเต้ คลินีค ไปจนถึงลานโคม เลยทีเดียว

“การแต่งหน้าผู้เสียชีวิตถึงแม้จะไม่มีเทรนด์เหมือนคนเป็น แต่ก็ทำให้เขาดูดีขึ้น ดูเหมือนคนนอนหลับอยู่ และดีกว่าเมื่อก่อนมาก ที่เวลาเคลื่อนย้ายศพลงจากตึกต้องใช้ ‘ลิฟต์แดง’ ด้านหลังเพื่อหลบคน ต้องเอาผ้าปิดคลุมหัวคลุมตัวทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้สามารถเข็นเตียงลงทางลิฟต์ด้านหน้า เปิดผ้าให้เห็นหน้าได้เลย ไม่มีใครดูออกว่าคนไข้เสียชีวิตไปแล้ว”

พร้อมกับเสริมว่า มีบ้างที่ญาติรีเควสต์ว่าอยากให้แต่งหน้าแบบไหนหรือโทนสีอะไร ตามสไตล์ความชอบของผู้ล่วงลับ บางคนอาจชอบแต่งตัว หรือแต่งหน้าแบบไหนก็สามารถบอกได้เหมือนกัน รวมทั้งอาจนำเครื่องสำอางมาเองก็ได้ ชีวิตต้องปลง

ทุกคนในแผนกสามารถทำศพแต่งหน้าได้หมด ดังนั้นเวลามีเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่เข้ามา ต้องมีการฝึกสอนกันก่อน ซึ่งมีทั้งแบบทดลองฝึกสอนกับหุ่นจำลองหรือบางครั้งก็เป็นศพจริงๆ โดยการทำศพแต่ละครั้งใช้เจ้าหน้าที่ประมาณ 3 คน

“เวลามีน้องมาใหม่ อยู่แผนกนี้ก็ต้องฝึกให้เขาทำขั้นตอนทั้งหมด คือปฏิบัติจริงเลย เรียกมาช่วยกันทำ การแพ็กศพจะต้องไม่มีสำลีโผล่ออกมาให้เห็น ต้องเก็บงานให้เรียบร้อย แล้วเราก็จะกำชับว่าต้องแต่งหน้าแบบธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาด ซึ่งส่วนใหญ่น้องผู้หญิงจะแต่งเป็นกันอยู่แล้ว สไตล์ใครสไตล์มัน แต่ถ้าเป็นผู้ชายก็อาจจะแต่งแข็งๆ หน่อยก็ต้องปรับรูปแบบกันไป”

นอกจากนี้ การแต่งหน้ายังช่วยปกปิดรอยแผล และรอยฟกช้ำในกรณีคนไข้ประสบอุบัติเหตุแล้วมาเสียชีวิตที่ห้องไอซียูแห่งนี้ โดยผู้ที่จะสามารถมาทำงานแผนกนี้ได้ต้องมีใจรักบริการจริง มีความอดทนอย่างมาก มีใจกุศล และผ่านการฝึกงาน เห็นผู้เสียชีวิตมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ส่วนหนึ่งเพื่อถามตัวเองด้วยว่าสามารถทำงานตรงนี้ได้หรือไม่ เมื่อทำงานมาได้สักพักจะเริ่มชิน หรืออาจรู้สึกผูกพันเหมือนเป็นญาติคนหนึ่ง จากการที่ได้ดูแลมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เวลาปฏิบัติหน้าที่ พวกเขาจึงไม่รู้สึกกลัวแต่อย่างใด

“ส่วนใหญ่คนที่เสียชีวิตห้องไอซียูจะไม่ใช่การแก่ตาย แต่จะเป็นอุบัติเหตุ มีเยอะค่ะ ทั้งวันทั้งคืน ยิ่งช่วงดึกยิ่งเยอะ แต่ละเดือนมากน้อยรายไม่เท่ากัน หรืออาจเสียชีวิตด้วยโรคตั้งแต่วัยหนุ่มสาว วัยทำงาน อย่างโรค SLE หรือโรคพุ่มพวง รวมทั้งกรณีที่เสียชีวิตแน่ๆ คือมะเร็งระยะสุดท้าย” ความรู้สึกในการทำงานของพวกเขาที่ต้องเจอแต่การสูญเสียไม่เว้นแต่ละวัน พยาบาลใจดีผู้นี้บอกว่า หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับความเศร้า ต้องทำใจเพราะไม่สามารถคล้อยตามได้เสมอไป จนหลายคนอาจมองว่าเป็นคนเย็นชา

“เราทำแผนกนี้ก็ต้องปลง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ชีวิตของคน แต่เราก็ต้องเห็นใจญาตินะ คนไข้บางรายหากหมอบอกแล้วว่าต้องจากไปแน่ๆ เราก็จะมีเทปธรรมมะมาเปิดให้คนไข้นอนฟัง ถ้าญาติต้องการ เรียกว่าเป็น End of life care การดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย ก็ตามแต่ว่าศาสนาอะไร เป็นคุณค่าด้านจิตใจที่อยากให้เขาได้สิ่งดีๆ ติดไปด้วย” เรื่องเล่าหลังห้อง

ขึ้นชื่อว่าห้องไอซียูต้องมีความขลังชวนขนลุกอยู่ไม่น้อย เรียกว่า “ไม่เชื่อย่าลบหลู่” ในการปฏิบัติหน้าที่ทุกขั้นตอนจะต้องมีการพูดขออนุญาตผู้เสียชีวิตไปด้วยว่าจะทำศพอย่างไรบ้าง รวมทั้งประสบการณ์ที่หลายคนอาจอยากฟังแต่ไม่อยากเจอด้วยตัวเอง ฑาริกา จันทร์อิ่ม พนักงานผู้ช่วยเหลือคนไข้แผนกไอซียู และช่างแต่งหน้าในครั้งนี้ ทำงานแผนกนี้มา 17 ปี เล่าว่า ทุกคนที่เข้ามาใช้บริการมักเจอเรื่องแปลกๆ ได้ยินได้เห็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ “บางคนเจอเขย่าเตียง เจอทวงเตียงบ้าง หรือบางทีก็เห็นคนแปลกๆ ตอนดึก เอามาเล่าให้เราฟัง บรรยายลักษณะมาก็ตรงกับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่อย่างเราเวลาอยู่ในเครื่องแบบจะไม่เจอเรื่องแบบนี้เลย อาจเพราะเขารู้ว่าเราเป็นเจ้าหน้าที่ที่เคยดูแลเขาอยู่ ที่โรงพยาบาลก็มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลตามรายชื่อผู้เสียชีวิตเหมือนกัน”

แต่ถึงจะไม่เจอ เจ้าหน้าที่พยาบาลทุกคนก็มีธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนกันอย่างหนึ่งในการขึ้นลิฟต์คือ เวลาเข้าลิฟต์ต้องยืนหลังชิดผนังไว้ ด้วยความเชื่อว่าวิญญาณจะมีการตามหลังมานั่นเอง ฝากไว้สักนิด หากใครอยากร่วมทำบุญ สร้างกุศลกันง่ายๆ ก็สามารถบริจาคเครื่องสำอางหมดอายุแก่โรงพยาบาลได้เช่นกัน

รายงานโดย ทีมข่าว M-Lite / ASTV สุดสัปดาห์ภาพโดย พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร
ที่มาผู้จัดการ

About the author

Comments

Leave a Reply

Free Web Hosting