วิธีการจัดงานศพ

Posted By on September 23, 2012

วิธีการจัดงานศพ

ประเพณีเกี่ยวกับศพ มักจะผิดแผกแตกต่างกันไปตามความนิยมของบุคคลในท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่คงลักษณะการประกอบพิธีไว้เป็นแนวเดียวกัน จะนำมากล่าวพอเป็นแนวทางปฏิบัติเฉพาะบางตอน ที่อนุศาสนาจารย์ปฏิบัติช่วยเหลืออยู่เป็นประจำเท่านั้น

การตั้งศพ
เมื่อตั้งศพและจัดดอกไม้ธูปเทียนประดับเรียบร้อยแล้ว ให้ตามไฟ (ตะเกียงมีโคมหรี่ไว้ปลายเท้า 1 คู่)
ในพิธีทางราชการ   เมื่ออาบน้ำศพและนำศพขึ้นตั้งเรียบร้อยแล้ว จะนิมนต์พระ 10 รูป หรือ 20 รูป สดับปกรณ์ (บังสุกุล) จบแล้วถวายไทยธรรมพระสงฆ์อนุโมทนา กรวดน้ำ ก็เป็นเสร็จพิธี
แต่ศพชาวบ้านทั่วไป ปัจจุบันนิยมนิมนต์พระสงฆ์มา 10 รูป หรือหลายรูปก็แล้วแต่ศรัทธาของเจ้าภาพ เมื่อพระมาถึงแล้ว ทอดผ้าบังสุกุลบนหีบศพ หรือบนที่ที่เตรียมไว้ นิมนต์พระชักผ้าบังสุกุล (จะเป็นผ้าไตร, จีวร, สบง, ผ้าเช็ดตัว, ผ้าเช็ดหน้า ก็ได้) เมื่อพระชักผ้าบังสุกุลแล้ว ก็เป็นอันเสร็จพิธีในตอนนี้

ลำดับพิธีในการสวดพระอภิธรรม

-  ได้เวลานิมนต์พระประจำที่
-  เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย จุดเทียนธูป ณ ที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม
   เสร็จแล้วจุดเทียนธูปบูชาหน้าศพ แล้วกลับมานั่ง
-  พิธีกร อาราธนาศีล รับศีลจบแล้ว พระสงฆ์ก็เริ่มสวดพระอภิธรรมต่อไป
-  เมื่อถึงเวลาเลิกสวดประจำคืน พระสวดพระอภิธรรมจบสุดท้ายแล้ว พิธีกร
    เชิญเจ้าภาพถวายไทยธรรม แล้วชักผ้าภูษาโยง หรือด้ายสายสิญจน์
-  เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล (ถ้ามี)
-  พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล
-  พระสงฆ์อนุโมทนา
-  เจ้าภาพกรวดน้ำ พระสงฆ์เดินทางกลับ
-  เสร็จพิธี
การทำบุญ 7 วัน
เมื่อเก็บศพไว้ครบ 7 วัน เช่น ตายในวันศุกร์ พอถึงวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ต่อมา ก็นิมนต์พระ 7 รูป (พิธีทางราชการ 10 รูป) มาสวดพระพุทธมนต์เย็น ถวายอาหารบิณฑบาตเช้าในวันรุ่งขึ้น แล้วจะมีสดับปกรณ์ (สวดมาติกาบังสุกุล) แสดงพระธรรมเทศนาต่อก็ได้ หรือทำในตอนเช้าหรือตอนเพล โดยไม่ต้องสวดมนต์เย็นก็ได้

ลำดับพิธีทำบุญ 7 วัน  (ทำบุญตอนเพล)
การทำบุญ 7 วัน ถ้าทำวันเดียว ตายวันศุกร์ ให้ทำวันศุกร์สัปดาห์ต่อไป

 

               10.00 น. -  พระสงฆ์ประจำอาสนะ
-   เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย แล้วไปจุดเทียนธูปหน้าศพ และกลับมานั่งที่เดิม
-  อาราธนาศีล รับศีล อาราธนาพระปริตร แล้วฟังพระสวดพร้อมกัน (ถ้ามีพิธีเทศน์ติดต่อกันไป)
-  อาราธนาพระปริตรต่อทันที ส่วนศีลนั้นอาราธนาและรับศีลตอนมีเทศน์
               11.00 น. -  ถวายภัตตาหารเพลพระที่สวดพระพุทธมนต์
               12.00 น. - พระฉันเสร็จ นำเครื่องไทยธรรมเทียบแล้ว เชิญเจ้าภาพถวาย
-  เก็บไทยธรรมแล้ว ชักผ้าภูษาโยง
-  เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล (ถ้ามี)
-  พระชักผ้าบังสุกุลแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ
-  เจ้าภาพจุดเทียนธูปที่โต๊ะบูชาก่อน แล้วจุดเทียนประจำกัณฑ์เทศน์ (เทียนส่องดูหนังสือเทศน์)
               13.30 น. -  พระเทศน์ขึ้นธรรมาสน์
-  อาราธนาศีล อาราธนาธรรม
-  เมื่อพระเริ่มเทศน์ด้วยการบอกศักราชก่อน ระหว่างนี้เจ้าภาพจุดเทียนเครื่องห้า (เครื่องทองน้อย)
    ของศพก่อนแล้ว จุดเครื่องห้าของเจ้าภาพ หรือจะจุดติดต่อจากจุดเทียนประจำกัณฑ์เทศน์
    หรือจุดระหว่างอาราธนาธรรมก็ได้
-  พระสงฆ์แสดงธรรมจบ เจ้าภาพไปจุดเทียนธูป ณ ที่เบื้องหน้าพระสงฆ์สวดรับเทศน์
    พระสงฆ์ 4 รูป (ถ้ามี) สวดธรรมคาถาต่อจนจบ
-  เจ้าภาพถวายไทยธรรม เจ้าหน้าที่เก็บไทยธรรมแล้วชักผ้าภูษาโยง
-  พระสงฆ์ทอดผ้าบังสุกุล (ถ้ามี)
-  เจ้าภาพกรวดน้ำ พระสงฆ์อนุโมทนา แล้วเดินทางกลับ
-  เสร็จพิธี

 

การทำบุญ 50 วัน 100 วัน
พิธีทำบุญ 50 หรือ 100 วัน ก็ทำเช่นเดียวกับพิธีทำบุญ 7 วัน ดังที่กล่าวมาแล้ว
การบรรจุศพ
เมื่อเจ้าภาพได้บำเพ็ญกุศลครบ 3 วัน 7 วัน 50 วัน 100 วันแล้ว ยังไม่ทำฌาปนกิจ จะต้องเก็บไว้เพื่อรอญาติ รอโอกาสอันเหมาะสม ก็นิยมเก็บศพไว้ที่บ้านหรือที่วัด ก็สุดแต่จะสะดวก ถ้าเก็บไว้ที่วัด ก็นิยมการบรรจุศพ พิธีบรรจุศพก็ไม่มีอะไรมาก เมื่อเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลครบ 3, 5, 7, 50, 100 วัน หรือมากกว่านั้นแล้ว พอได้เวลา (ส่วนมากเวลา 15.00 – 17.00) ก็นำศพไปยังสถานที่บรรจุนำหีบศพเข้าที่เก็บ แต่ยังไม่ปิดที่เก็บ เชิญแขกเข้าเคารพ โดยเจ้าภาพจัดหาดินเหนียวก้อนเล็ก ๆ ห่อกระดาษดำ และกระดาษขาวใส่ถาดไว้ เพื่อแจกแขกคนละก้อน จะมีดอกไม้ด้วยก็ได้ เมื่อแขกนำดินเหนียวและดอกไม้ไปวางเคารพศพแล้ว เจ้าภาพก็ทอดผ้าบังสุกุลปากหีบศพ และนิมนต์พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล (หรือทอดผ้าบังสุกุลก่อนเชิญแขกเข้าเคารพศพก็ได้) พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุลแล้วก็เก็บ เป็นอันเสร็จพิธี ผู้จัดการฌาปนสถานก็จัดการปิดที่เก็บหีบศพต่อไป

    การฌาปนกิจศพ
การฌาปนกิจศพหรือการเผาศพ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าภาพกำหนดแล้ว ก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ฌาปนสถาน และออกบัตรเชิญ โดยกำหนดวันเวลาให้ผู้เคารพนับถือทราบทั่วกัน
เมื่อชักศพขึ้นตั้งอย่างที่ทำคราวถึงแก่กรรมแล้ว จะมีพระสวดพระอภิธรรมก่อนฌาปนกิจสัก 3 วัน 7 วันอีกก็ได้ หรือจะทำเพียงวันเดียวก็ได้ แต่ทำกันอยู่ทั่ว ๆ ไปนิยมตั้งศพทำบุญในตอนเช้าวันฌาปนกิจแล้วเพื่อตัดภาระ

    ลำดับพิธีฌาปนกิจศพ

               09.00 น. -  เชิญศพขึ้นตั้งบนศาลาบำเพ็ญกุศล
               10.15 น. -  นิมนต์พระสงฆ์ประจำที่อาสน์สงฆ์
               10.20 น. -  เจ้าภาพจุดเทียนธูปพระรัตนตรัย
               10.25 น. -  อาราธนาพระปริตร
               10.30 น. -  พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์
               11.00 น. -  ถวายภัตตาหารเพล
-  ถวายเครื่องไทยธรรม
-  พระสงฆ์อนุโมทนา
               12.00 น. -  เลี้ยงอาหารกลางวันญาติมิตร และแขกที่มาในงาน
               14.00 น. -  นิมนต์พระเทศน์ขึ้นพักบนอาสน์สงฆ์
               14.05 น. -  เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย เทียนกัณฑ์เทศน์, เทียนธูปหน้าศพ
-  อาราธนาศีล, อาราธนาธรรม (เทศน์ธรรมดาหรือเทศน์แจงก็ได้)
               14.10 น. -  พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว ถวายกัณฑ์เทศน์
               15.00 น. -  นิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป (หรือจำนวนตามแต่นิมนต์) ขึ้นอาสน์สงฆ์พร้อมกัน
-  มาติกาบังสุกลุ
               15.30 น. -  เคลื่อนศพเวียนเมรุ 3 รอบ พระสงฆ์นำศพ 1 รูป
               15.45 น. -  เชิญศพขึ้นสู่เมรุ
               16.00  น. -  แถวกองเกียรติยศเข้าที่พร้อมหน้าเมรุ (ถ้าเป็นศพที่ต้องจัดกองเกียรติยศ)
-  อ่านคำไว้อาลัย (ถ้ามี) (ท้ายคำไว้อาลัยมียืนไว้อาลัยศพที่มีกองเกียรติยศไม่ต้องเชิญยืนไว้อาลัย)
-  เจ้าภาพเชิญแขกผู้ใหญ่ทอดผ้าบังสุกุล โดยจัดลำดับจากผู้มีอาวุโสน้อยไปหาผู้มีอาวุโสขึ้นไปตามลำดับ
-  ประธานในพิธีทอดผ้าบังสุกุลหน้าศพ
-  ประธาน ฯ (กรณีพระราชทานเพลิงศพ ให้ถวายคำนับยังทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ฯ
    ในวันนั้น) วางกระทงดอกไม้ (เครื่องขมา)
-  เป่าแตรนอน 1 จบ (กรณีจัดกองเกียรติยศ)
-  เจ้าหน้าที่เพลิงหลวงส่งธูปเทียน และดอกไม้จันทน์ให้ประธาน ฯ (ทำในเขตกรุงเทพ ฯ)
-  ประธาน ฯ ลงจากเมรุ
-  เจ้าภาพเชิญแขกขึ้นประชุมเพลิง
-  เสร็จพิธี
               หมายเหตุ -  ตามตัวอย่างนี้เป็นศพทหารซึ่งต้องมีกองเกียรติยศ ถ้าเป็นศพไม่มีกองเกียรติยศ
    ก็ต้องตัดรายการเกี่ยวกับกองเกียรติยศออก
-  ศพที่มีกองเกียรติยศ ไม่ต้องเชิญยืนไว้อาลัยหลังอ่านคำไว้อาลัย
-  รายการนี้สมมติขึ้นเต็มอัตรา ซึ่งยังย่อส่วนได้เพื่อการประหยัด เช่น
    ตัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระตอนเช้าออกได้ คงเหลือพิธีเทศน์มาติกาบังสุกุลตอนบ่าย
-  และตัวอย่างนี้ตั้งศพทำบุญที่วัด ถ้าตั้งศพทำบุญที่บ้านก่อน แล้วเคลื่อนศพมาที่วัดในวันนั้น
    ก็เดินเวียนเมรุแล้วนำศพขึ้นเมรุต่อไป
-  เวลาเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
-  หากมีผ้าทอดจำนวนหลายผืน จะเชิญญาติและแขกผู้ใหญ่ทอดก่อนอ่านคำไว้อาลัยก็ได้
    โดยเหลือไว้สำหรับประธาน ฯ 1 ผืน หรือ 1 ไตร
การเก็บอัฐิ
เมื่อจัดการฌาปนกิจเสร็จแล้ว การเก็บอัฐิ บางรายในตอนเย็นวันเผาเลย ทั้งนั้น เพื่อจะฉลองเสร็จในคราวเดียวกัน โดยเก็บอัฐิในเวลาประมาณ 19.00 น. แล้วนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลเช่นเดียวกับพิธีก่อนเผาในคืนวันนั้น เวลาประมาณ 20.00 น. นิมนต์พระสวดพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้นถวายภัตตาหารเช้า แล้วนำอัฐิไปบรรจุหรือเก็บกลับบ้าน ก็เป็นเสร็จพิธี แต่ส่วนมากเก็บอัฐิในวันรุ่งขึ้น เช่นเดียวกับพิธีทางราชการ
สำหรับชนบทบางที่ นิยมเก็บในวันที่ 7 จากวันเผา แล้วนำไปบำเพ็ญกุศลดังกล่าวมา
การเดินสามหาบ
การเดินสามหาบ ก็คือ พิธีเก็บอัฐินั่นเอง แต่เป็นพิธีเก็บอัฐิแบบเต็มหรือแบบพิเศษ ซึ่งก็มีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งจะกล่าวต่อไป
รุ่งขึ้นเช้า เจ้าภาพไปเก็บอัฐิ เตรียมเครื่องบูชาและเครื่องสามหาบไปด้วย คือ เครื่องทองน้อย (ธูป 1  เทียน 1  ใส่เชิงเล็กและดอกไม้ทำเป็น 3 พุ่ม) 1 ที่,  สุหร่าย (ขวดโปรยน้ำ)   ใส่น้ำอบไทย 1 ขวด   พานใส่เงิน (เศษสตางค์) 1 พาน และที่ที่จะใส่อัฐิ ของเหล่านี้วางไว้ตรงข้างศีรษะอัฐิ
เมื่อพร้อมกันแล้วก็ตั้งต้นเดินสามหาบ คือ มีของไปถวายพระ เลี้ยงพระ 3 ชุด ชุดที่หนึ่งมีไตรครอง เป็นประเภทเครื่องนุ่งห่ม ชุดที่สองที่มีสำรับคาว 1 หวาน 1 เป็นเครื่องกิน ชุดที่สามมีหม้อข้าวเตาไฟเครื่องใช้
หรือจะจัดสามหาบอีกหนึ่งก็ได้คือ จัดให้มีหม้อข้าวเชิงกราน และพริก หอม กระเทียม ฯลฯ อยู่ในสาแหรกข้างหนึ่ง สาแหรกอีกข้างหนึ่งมีของคาวหวาน และเหมือนกันอย่างนี้ทั้งสามหาบ จัดให้บุตรหลานหรือเครือญาติ 3 คน เป็นผู้หาบคนละหาบ
หรือสามหาบอีกแบบหนึ่ง จัดคนขึ้น 9 คน แบ่งเข้าชุด 3 คน ต่อ 1 ชุด ชุดหนึ่ง ๆ มีดังนี้คือ ถือไตร 1 คน, ถือจาน ช้อนซ่อม แก้วน้ำ 1 คน, หาบสำรับคาวหวาน 1 คน จัดอย่างนี้ทั้ง 3 ชุด เดินเวียนเมรุคนละหรือชุดละ 3 รอบ เวลาเดินให้กู่กันด้วยตามวิธีชาวป่า เรียกกันว่า “วู้ ๆ ๆ” คนและ 3 ครั้ง แล้วจึงนำสามหาบขึ้นตั้งยังอาสน์สงฆ์
เมื่อเดินสามหาบแล้วก็ขึ้นไปเก็บอัฐิ จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยแล้ววางไตร 3 ไตรบนผ้าคลุมอัฐินั้น แล้วนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นไปชักผ้าบังสุกุลนั้น จากนั้นจึงเปิดผ้าคลุมออกพรมน้ำอบ และเก็บอัฐิใส่ที่ที่เตรียมไว้ แล้ววางบนพาน ส่วนเถ้าถ่านคือ อังคารรวบรวมใส่ผ้าขาวที่รองนั้น รวบชายขึ้นห่อใส่ในที่ใส่อังคารที่เตรียมไป แล้วเชิญอัฐิและอังคารกลับลงมาตั้งที่ทำบุญ เลี้ยงพระสามหาบและบังสุกุล แล้วก็เป็นอันเสร็จงาน หรือถ้าไม่มี 3 หาบ ก็เก็บอัฐิอังคารและบังสุกุล ณ ที่นั้น เป็นอันเสร็จพิธี ตอนที่ลงจากเมรุแล้วขึ้นบันไดบ้าน เมื่อถึงบ้านนั้น เจ้าภาพจะโปรยเศษสตางค์เป็นการให้ทานด้วย
แปรธาตุ
ประเพณีเกี่ยวกับการเก็บอัฐิมีอยู่ว่า เมื่อถึงเวลาเก็บอัฐิ จะเป็นในวันเผา หรือในวันรุ่งขึ้น หรือ 3 วัน 7 วัน หลังจากเผาเสร็จก็ตาม ครั้งแรกให้ทำกองกระดูกให้เป็นรูปคนนอนหงาย หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก สมมติว่าตาย แล้วนิมนต์พระมาบังสุกุล ตอนนี้เรียกว่า “บังสุกุลตาย” จะมีผ้าทอดก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ พระสงฆ์จะพิจารณาว่า “อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปปาทวยธมฺมิโน อุปปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺ ติ เตสํ วูปสโม สุโข” เมื่อพระพิจารณาจบแล้ว ก็ให้ทำรูปอัฐินั้นใหม่ เป็นรูปคนหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก สมมติว่าเกิด แล้วเจ้าภาพก็ใช้น้ำหอมประพรมโปรยด้วยดอกไม้และเงินทอง นิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เรียกว่า “บังสุกุลเป็น” พระสงฆ์บังสุกุลว่า “อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นอรตฺถํ วกลิงฺครํ” แล้วทำการเก็บอัฐิ
เมื่อเก็บอัฐิตามต้องการแล้วอัฐิที่เหลือรวมทั้งเถ้าถ่านก็รวบรวมไปบรรจุ, ทิ้งแม่น้ำหรือฝังในที่เหมาะสมต่อไป
ทำบุญอัฐิ(ออกทุกข์)
เมื่อเก็บอัฐิเสร็จตอนเช้า และนำอัฐิไปถึงบ้านแล้ว จะทำบุญในวันนั้นทีเดียว หรือจะพัก 3 วัน หรือ 7 วัน จึงทำก็ได้ รายการมีสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ บังสุกุล เทศน์ มีตักบาตรน้ำมนต์ เดินสายสิญจน์ เพราะเป็นการทำบุญเรือนให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่ข้างหลัง ในการทำบุญอัฐิ (ออกทุกข์) เจ้าภาพแต่งกายสีต่าง ๆ จากสีขาว – ดำได้
หลักเกณฑ์การจัดกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหารซึ่งเสียชีวิตในขณะประจำการ

About the author

Comments

Leave a Reply

Free Web Hosting